ข่าวกษ.เคาะหลักเกณฑ์เยียวยาเรือประมงออกนอกระบบ - kachon.com

กษ.เคาะหลักเกณฑ์เยียวยาเรือประมงออกนอกระบบ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน โดยกล่าวในที่ประชุมว่า ขอให้เข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์หลักของการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามทำประมงที่ออกระเบียบโดยภาครัฐตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งได้บันทึกไว้ในระบบข้อมูลของกรมเจ้าท่าว่ามี 697 ลำ จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรือกลุ่มดังกล่าว โดยตรวจสอบว่า เคยมีประวัติการกระทำผิดพ.ร.บ. ประมง พ.ร.บ. เจ้าท่า และพ.ร.บ. แรงงานหรือไม่ ซึ่งในการตรวจสอบการกระทำผิดตรวจสอบทั้งเจ้าของเรือ ตัวเรือ และเครื่องมือประมง
นายกฤษฏาย้ำว่า จะเร่งดำเนินการพิจารณากลั่นกรองเพื่อช่วยเหลือชาวประมงโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะนำเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการต่อไป

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเล ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงพลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ ให้เร่งดำเนินการจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากเมื่อเรือถูกตรึงพังงา ไม่สามารถออกทะเลได้ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้โดยเรือกลุ่มนี้ กรมเจ้าท่าได้นำสีขาวและแดงไปทาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้

จากนั้นผู้แทนชาวประมงกลุ่มเรือขาว-แดง ได้เข้าหารือนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง ผู้ช่วยเลขานุการฯ เพื่อเสนอให้ผ่อนปรนเกณฑ์คุณสมบัติของเรือที่จะได้รับการจ่ายค่าชดเชย โดยกลุ่มเรือที่ใบอนุญาตใช้เรือหมดอายุก่อนวันที่ 28 เมษายน 2558และกลุ่มเรือที่ทำผิด พ.ร.ก.ประมง แต่คดีสิ้นสุดแล้ว ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับค่าชดเชย ส่วนกลุ่มเรือที่เหลือไม่อยู่เกณฑ์รับค่าชดเชยได้นั้น เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกช่วยจัดหาผู้ซื้อในการนำเรือไปขายต่างประเทศและจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการเปลี่ยนประเภทจากเรือประมงไปเป้นเรือประเภทอื่น เช่น เรือขนส่ง เรือลากจูง เรือท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือกลุ่มเรือขาว-แดง เป็นอันดับแรกเพื่อที่จะนำเงินค่าชดเชยที่ได้รับเป็นต้นทุนไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งนายอรุณชัยรับว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ สรุปแนวทางเบื้องต้นในการพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าชดเชยเรือประมงกลุ่มระยะเร่งด่วน (ขาว-แดง) เป็นเรือที่ได้รับกระทบจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งเงินค่าชดเชยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดคือ งวดแรกร้อยละ 30 และงวดที่ 2 ร้อยละ 70 เห็นชอบให้ใช้วิธีรื้อเรือที่ได้รับค่าชดเชยทุกลำ โดยเจ้าของเรือเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อเรือ ส่วนไม้ที่ได้จากการรื้อเป็นสิทธิของเจ้าของเรือ สำหรับเรือเหล็กซึ่งมี 22 ลำ ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานพิจารณาอัตราค่าชดเชย แต่เจ้าของเรือบางรายยังเห็นว่า ต่ำเกินไป จึงตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วยภาครัฐ เจ้าของเรือ และสมาคมประมงฯ เพื่อหาราคากลางที่เหมาะสม แล้วจึงเสนอขออนุมัติงบประมาณช่วยเหลือในระยะถัดไป

ส่วนกลุ่มเรือที่นำออกนอกระบบคือ กลุ่มเรือที่ไม่ประสงค์ประกอบอาชีพประมงต่อไปมี 2,513 ลำ คณะทำงานตรวจสอบได้แบ่งกลุ่มและจัดลำดับความเร่งด่วนมาแล้วประมาณ 2,000 ลำ โดยต้องตรวจสอบด้านกฎหมาย แล้วแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ กลุ่มสีขาวคือ ไม่มีประวัติการทำผิด กลุ่มสีเทาคือ มีประวัติทำผิด แต่โทษเบา และกลุ่มสีดำคือ มีประวัติทำผิดกฎหมายประมงอย่างร้ายแรง จะพิจารณาในวันนี้ด้วย โดยจะจำแนกให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเมื่อครม. อนุมัติแล้วจะเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวประมงต่อไป

ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เลขานุการ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองนำเรือประมงออกนอกระบบ กล่าวว่าเร่งจ่ายค่าชดเชยแก่กลุ่มเรือประมงขาว-แดงซึ่งทำประมงไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นกลุ่มแรก จำนวน 305 ลำ โดยจะเร่งดำเนินการเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น จนเข้าสู่การพิจารณาของครม. ให้เร็วที่สุด

หลักเกณฑ์จะจ่ายให้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าเรือ ซึ่งจะใช้ภาพถ่ายในปี 2558 มาเป็นหลักฐานในการประเมินมูลค่าตามสภาพ โดยกรมประมงจะเร่งกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาที่ต้องทำจากนี้ไปได้แก่ การให้เจ้าของเรือมาทำสัญญารับค่าชดเชย จากนั้นจะโอนเงินงวดแรกให้ร้อยละ 30 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการทำลายเรือ ซึ่งทั้งเครื่องยนต์และไม้ที่เป็นโครงเรือนั้นเป็นสิทธิของเจ้าของเรือ เมื่อทำลายเรือทิ้งแล้ว จึงจะได้รับค่าชดเชยส่วนที่เหลือร้อยละ 70

นายอดิศร กล่าวว่า สำหรับเรือกลุ่มขาว-แดงที่เป็นเรือเหล็กซึ่งชุดแรกมี 22 ลำและชุดที่ 2 มี 64 ลำ คณะทำงานฯ จะเร่งกำหนดอัตราชดเชยที่เป็นธรรมแก่เจ้าของเรือ ซึ่งสาเหตุที่ล่าช้านั้นเพราะการทำลายเรือเหล็กยุ่งยากกว่าเรือไม้มากเช่น ขั้นตอนการนำเครื่องยนต์ออกต้องตัดออก ค่าใช้จ่ายในการทำลายสูง จึงต้องทบทวนให้รอบคอบ

ส่วนเรือกลุ่มที่ยังมีใบอนุญาตทำประมง แต่ประสงค์จะเลิกประกอบอาชีพประมง แล้วแจ้งความจำนงมายังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อขอรับค่าชดเชยด้วยนั้นมี 2,312 ลำซึ่งจะต้องแบ่งกลุ่มตามรายละเอียดทางกฏหมายเป็นขาว เทา และดำเช่นเดียวกับเรือกลุ่มแรก แล้วจึงนำมาจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือเป็นระยะๆ ไป.