ข่าว'บิ๊กตู่'แนะปชช.ร่วมมือแก้'ฝุ่นพิษ' ชี้ไม่ใช่หน้าที่คนเดียว - kachon.com

'บิ๊กตู่'แนะปชช.ร่วมมือแก้'ฝุ่นพิษ' ชี้ไม่ใช่หน้าที่คนเดียว
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า  จากวิกฤติฝุ่นละอองในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกภูมิภาค ไม่ใช่สภาพอากาศที่ผันแปรรายวันตามปกติ แต่มันคือสภาพอากาศสุดขั้ว หนาวจัด ร้อนจัด แล้งจัด พายุถล่ม  ซึ่งล้วนเป็นผลพวงหนึ่งมาจากน้ำมือของมนุษย์เราทุกคน ทั่วโลก และในประเทศของเราเอง มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น สิ่งที่ปรากฏชัดทุกวันนี้ เช่น ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส  สหรัฐอเมริกาและแคนาดากำลังเผชิญกับกระแสลมกรดขั้วโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดวิกฤติมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มองไม่เห็นและหมอกควันปกคลุมท้องฟ้า ทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้สิ่งที่น่ากลัวและกำลังจะส่งผลอย่างรุนแรงในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าอาจทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายด้วยน้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากอ่าวและระบบนิเวศน์ถูกทำลายอย่างรุนแรง พื้นที่เกษตรกรรมจะเกิดปัญหา น้ำกิน-น้ำใช้ก็เริ่มจะไม่บริสุทธิ์ ในขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G20 ประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมปีนี้ โดยจะผลักดันงานทางด้านสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องใช้เวลา เริ่มต้นแล้วก็ทำต่อๆ ไป ก็จะดีขึ้นเองแต่ก็ขอให้ทำอย่างรวดเร็วขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ  อาทิ กำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางน้ำ และทางอากาศของสถานประกอบการ โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม การผลักดันกฎหมายใหม่ เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน  อีกทั้งมีการขยายความร่วมมือกับ 5 ประเทศอนุภูมิภาคแม่โขง ในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน  สำหรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ปรากฏนั้น เป็นภาพรวมของฝุ่นทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  โดยฝุ่นละอองPM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อบุคคลทั่วไปในระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า แต่อาจจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง ได้โดยง่าย  ทั้งนี้แหล่งที่มาของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ นั้น เกิดจากไอเสียดีเซล ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์   ซึ่งตนแนะนำให้ใช้การไถกลบ แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือจุลินทรีย์อีเอ็ม ก็จะช่วยเพิ่มสารอาหารในดิน ไม่สร้างมลพิษฝุ่นละออง และบางส่วนเกิดจากเขตก่อสร้าง  โรงงาน  ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้น เช่น จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ ก็ควรลดลง จากวิกฤตฝุ่นละอองนี้  ทุกคนได้รับผลกระทบหมด  ทั้งนี้การที่รัฐบาลจะออกมาตรการอะไรออกไป ก็ต้องเห็นใจเกษตรกร ธุรกิจเอกชน แต่ต้องคำนึงถึงส่วนรวม และการปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติภายใต้ทุกๆ วิกฤติในบ้านเมืองของเรานั้น  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิกฤติฝุ่นละอองในครั้งนี้ เราก็ได้เห็นถึงความร่วมแรง ร่วมใจ ระดมสมองและความคิด ในการแก้ปัญหาทั้งการใช้โดรน  การใช้เครื่องบินพ่นน้ำ การพ่นน้ำที่ตึกสูง รวมถึงการล้างถนนและลดฝุ่นในเขตก่อสร้าง เป็นต้น  ซึ่งทั้งหมดถือเป็นภาพรวมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และPM 10 อื่นๆด้วย  ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ทันที มันเป็นไปไม่ได้  ซึ่งส่วนใหญ่เราต้องไปแก้ที่การจราจร และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แล้วก็อื่นๆด้วยที่สร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก  ฉะนั้นจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงต้นตอของสาเหตุแต่ละเรื่อง ส่วนแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กของรัฐบาล นั้นได้มีการแถลงข่าว และรับทราบกันแล้วตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย อาทิ ให้รถยนต์ดีเซล ขสมก.รถยนต์ของทางราชการ ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อตลาดไบโอดีเซล บ้านเรา ทำให้เกิดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ B20 ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคด้วย โดยรัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ ตามแผนที่กำหนดไว้ ให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง แทนรถยนต์ส่วนบุคคล และเร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ท้ายนี้ตนขอนำเสนอส่วนหนึ่ง ของมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ที่กำลังเป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ก็คือ การพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นโรดแมพทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท หรือถูกลงเรื่อยๆ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่เป็น EV ที่ยังแพงอยู่ โดยนอกจากจะช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันได้ราว  45,000 บาทต่อปี แล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ทราบว่ามีเอกชนรายหนึ่ง ที่กำลังเปิดตัว “ควายทอง” รถเมล์ไฟฟ้า แบรนด์ไทย ช่วยเติมเต็มระบบขนส่งมวลชนของเรา ที่สามารถประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ก็ขอชื่นชมและให้กำลังใจ  ท้ายนี้ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของเรา ให้เหมือนกับการรักษาสุขภาพของตนเอง และดูแลทุกคนในครอบครัวและคนอื่นๆ ให้มีความสุขด้วยกัน เพราะเราอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินไทย.