ข่าวรับวาเลนไทน์!สธ.ทำคิวอาร์โค๊ดแนะเป็นครอบครัวคุณภาพ - kachon.com

รับวาเลนไทน์!สธ.ทำคิวอาร์โค๊ดแนะเป็นครอบครัวคุณภาพ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นพ.สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายวิเชียร ชิดชนกนารถ รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ รองประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย นพ.สมชาย ตรีทิพย์สถิตย์ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนาย บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ พิธีกรและดารานักแสดง ร่วมแถลงข่าว “Quality of Love เพราะรัก...จึงอยากให้รู้” เพื่อการสร้างครอบครัวใหม่ที่มีคุณภาพ เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์



นพ.สุขุม กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างครอบครัวใหม่ที่มีคุณภาพ สนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการ สนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเพียงพอต่อการทดแทนประชากร มีการวางแผนการเกิดที่มีความพร้อมทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยทุกภาคส่วนสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ส่งเสริมการเกิดทุกรายและการเจริญเติบโตมีคุณภาพ จัดสวัสดิการสนับสนุนครอบครัวเพื่อช่วยในการเลี้ยงดูบุตร และด้านสุขภาพ เนื่องจากอัตราเพิ่มประชากรไทยและคุณภาพการเกิดลดลง โดยร่วมกับกรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร  จัดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์คิวอาร์โค้ด “Quality of Love เพราะรัก...จึงอยากให้รู้” ให้ความรู้ 10 ข้อมูลสำคัญในการสร้างครอบครัวคุณภาพ ทั้งด้านความรู้สุขภาพ สิทธิประโยชน์ สวัสดิการสังคม บทบาทของพ่อแม่ในการดูแลกันและกัน และการเลี้ยงดูลูกร่วมกัน โดยจัดไว้ที่จุดจดทะเบียนสมรสทุกแห่ง 878 อำเภอ และ 50 เขตของกทม. เริ่มตั้งแต่วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้



นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในการส่งเสริมการเกิดทุกรายให้มีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการผ่านกลไกต่างๆ พื่อลดอัตรการตายของมารดาและทารกเป็น 0 จากภาวะตกเลือด และภาวะความดันโลหิตสูง โดยส่งเสริมให้คู่สมรสที่ต้องการมีบุตร เตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตคู่ กินวิตามินโฟลิกติดต่อกัน 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดภาวะซีด ป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด จัดบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการวางแผนการตั้งครรภ์ในรายที่มีโรคทางพันธุกรรม ห้องคลอดได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการคลอดที่ปลอดภัย พัฒนาระบบการส่งต่อทางสูติกรรมอย่างรวดเร็วทุกโรงพยาบาล มีการกำหนดระยะเวลาการดูแลในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน และจัดทำมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก

นพ.พิษณุ กล่าวว่า ปัจจุบันหนุ่มสาวแต่งงานอายุมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในแม่อายุมาก และพบว่ามีความต้องการบุตรน้อยลง ปี 2561 มีอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยเท่ากับ 1.58 ขณะที่ประเทศเวียดนาม 1.95 และฟิลิปปินส์ 2.92 ปี 2560 ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดมีชีพ 702,755คน เทียบกับปี 2550 มีจำนวน 811,384 คน เมื่อเกิดน้อยลงจึงจำเป็นต้องได้บุตรที่มีคุณภาพตั้งแต่แรกเกิดโดยส่งเสริมให้มีการวางแผนก่อนมีบุตร ดข้าถึงการฝากครรภ์เร็ว เป็นต้น.