กษ.ปล่อยกู้ดอกต่ำหนุนสหกรณ์เกษตรผลิตปุ๋ยผสมเอง
การเมือง
โดยมอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำโครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม และผลักดันให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวกลางในการสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้กับสหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้ จำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป
สำหรับกรมพัฒนาที่ดินจะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งจะมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม
ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะคอยให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะมีการตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโดยให้สหกรณ์กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด แจ้งรายละเอียดของโครงการนี้ไปยังสหกรณ์ต่าง ๆ และมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 462 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่ง ได้แจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว จำนวน 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้กับแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 161,462 ราย ทั้งนี้ หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มาจากค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม ในราคาตันละ 3,378 บาท จะสามารถลดต้นทุนปัจจัย การผลิตปุ๋ยให้กับเกษตรกรได้ประมาณปีละ 2,000 บาท/ตัน และลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมใช้เอง ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 228.38 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีสหกรณ์เห็นประโยชน์ที่จะช่วยสมาชิกและเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมเอง ก็สามารถแจ้งความประสงค์และแจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยได้เพิ่มเติม โดยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด และในอนาคตกรมฯคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จะสามารถนำข้อมูลจากการเก็บค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิกเป็นรายแปลงมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดหาปุ๋ยหรือบริการผสมปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกร ใช้ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิด.