ข่าว'วอยซ์ทีวี'ร้องอุทธรณ์-คุ้มครองชั่วคราว คำสั่งจอดำ15วัน - kachon.com

'วอยซ์ทีวี'ร้องอุทธรณ์-คุ้มครองชั่วคราว คำสั่งจอดำ15วัน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.  ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี เข้ายื่นคำฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), สำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง กรณี กสทช.มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีวอยซ์ทีวี 15 วัน ด้วยเหตุผลว่า มีการนำเสนอรายงานข่าวหลายรายการมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งนั้น โดยสถานีวอยซ์ทีวีได้มีการยื่นคำขอต่อศาลปกครองกลางเพื่อขออุทธรณ์คำสั่ง กสทช.ดังกล่าว และขอให้ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้จอดำ เพื่อให้สถานีกลับไปดำเนินรายการได้ตามปกติ

โดย นายประทีป กล่าวว่า เหตุผลที่จะมายื่นคำร้องในวันนี้ มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การสั่งปิดสถานีวอยซ์ทีวี กระทบกับความเสียหายทางธุรกิจของบริษัทอย่างรุนแรง ซึ่งตัวเลขความเสียหายเท่าที่ประเมินไว้ประมาณ 76 ล้านบาท โดยเป็นการประเมินจากโอกาสเรื่องโฆษณาในช่องทางต่างๆ ของทางสถานี เป็นระยะเวลา 15 วัน ที่ถูกสั่งปิด  แต่การเรียกร้องค่าเสียหายตรงนี้คงจะเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว วอยซ์ทีวีก็จะทำการยื่นเรียกร้องค่าเสียหายสู้ตามขั้นตอนกฎหมายปกติ 2.เราจำเป็นต้องขอความคุ้มครองชั่วคราว เพราะในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น ประชาชนมีสิทธิ์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ในสถานการณ์แบบนี้จะสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างรุนแรง เราจึงจำเป็นต้องขอความคุ้มครองชั่วคราว เพราะยิ่งในช่วงนี้ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วทางกสทช.ควรที่จะต้องผ่อนคลายกฎที่ใช้กำกับดูแลและควบคุมสื่อ และควรจะมีบทบาทสนับสนุนเสรีภาพของสื่อด้วยซ้ำ และ 3.เราจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ เพราะในเนื้อหาประเด็น ที่ กสทช.เอามาเป็นบทลงโทษนั้น ทางสถานีมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 97 หรือว่า พ.ร.บ.ประกาศวิทยุ กระจายเสียงมาตรา 37



“ขอเรียกร้องต่อ กสทช. และ หัวหน้าคสช.ให้ช่วยกันผลักดันยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ฉบับที่ 97 และ 103 โดยเฉพาะหัวหน้าคสช. ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะมาลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อลงมาเล่นการเมืองชัดเจนเช่นนี้ ในขณะที่ยังเป็นหัวหน้าคสช.และมีประกาศควบคุมสื่ออยู่ จะทำให้การเสนอข่าวสารไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ซึ่งการบอกว่าอยากจะให้การเลือกตั้งนำไปสู่เสรีภาพและเป็นธรรม ก็จะเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น”นายประทีปกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิดปกติของกสทช.หรือไม่ นายประทีป กล่าวว่า เราคิดว่าเป็นแบบนั้น เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 มีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้นการจะปิดสิ่งพิมพ์หรือสื่อมวลชนไม่ได้ เพราะจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นการที่ กสทช.นำประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ103 มาใช้ในการลงโทษนั้น ควรจะยกเลิกได้แล้ว ซึ่งที่ตนเรียกร้องเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของช่องวอยซ์ทีวี แต่เป็นประโยชน์สำหรับสื่อมวลชนทุกแขนง เพราะตั้งแต่หลังปี 2558 ที่มีการรัฐประหาร มีการใช้กฎหมายพิเศษเป็นประกาศ คือคำสั่ง คสช.ที่ 97 และ 103 มีผลบังคับใช้ ซึ่งหลังช่วงรัฐประหารใหม่ๆ เราก็เข้าใจสถานการณ์ของประเทศว่าอยู่ในบรรยากาศอย่างไรเราก็ได้พยายามปรับเนื้อหาหรือว่าวิธีการนำเสนอ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเป็นที่สังเกตว่าที่ผ่านมาจะมีการสั่งปิดช่องวอยซ์ทีวี ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประชาธิปไตย อาทิ หลังมีการรัฐประหาร ช่วงที่มีการรณรงค์ให้มีการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2560  และล่าสุดครั้งนี้ก็คือเป็นช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.