'อนาคตใหม่-พลังท้องถิ่นไท' ชูนโยบายศิลปวัฒนธรรม
การเมือง
นายปิยบุตร กล่าวว่า โดยทั่วไปศิลปวัฒนธรรมคือความเป็นพลวัตที่มีความเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล แต่ศิลปวัฒนธรรมไทยยังถูกตีกรอบ กดทับด้วยอำนาจนิยม พยายามกำหนดให้ความเป็นไทยเหมือนกันหมด อย่างเช่นค่านิยม 12 ประการ ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่มองว่ามีกฎหมายจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นต้องมีการปรับแก้ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายภาพยนต์ต้องไม่ผูกขาด พ.ร.บ.การชุมนุม จากนั้นควรมีการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้โดยของเดิมที่มีอยู่ก็ต้องขยายเวลาเปิด และสร้างของใหม่ โดยเฉพาะในท้องถิ่น สร้างแหล่งรวมงานศิลปะทั้งโรงหนัง โรงละคร การแสดงดนตรี ต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนศิลปินทั้งเรื่องทุนในการทำงาน และเรื่องภาษีที่น่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะงานศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้เชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
นายชื่นชอบ กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ดังนั้นต้องทำให้มูลค่าเกิดขึ้นจริง เพื่อให้คนจับต้องได้ ประชาชนจะได้ให้ความมือ เพราะที่ผ่านมา ศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มีคุณค่าแต่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ ดังนั้นต้องทำให้คนเห็นภาพแบบเดียวกัน ค่อยๆ ขยับไปด้วยกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลา ไม่อย่างนั้นบอกว่าไปแก้กฎหมายที่มีปัญหา แต่หากคนในประเทศยังไม่พร้อมเดินไปพร้อมกัน แก้กฎหมายกี่ฉบับก็ยังเป็นปัญหา ทั้งนี้พรรคจะมุ่งเน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจ ศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องได้ มีเงินได้ก็จะปรับประเทศไปอีกรูปแบบหนึ่งได้ เรามีนโยบาย 1 บริษัท 1 ท้องถิ่น อาจจะมีตัวแทนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นมา จังหวัดใกล้เคียงสามารถเข้ามาร่วมได้ นอกจากนี้ประเทศไทยปัจจุบันมีการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าเป็นไปได้ จะส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสถานที่แต่งงานของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ด้าน นายก้องภพ กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยมีความหลากหลาย น่าสนใจไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นนโยบายของพรรคมีความพยายามเชื่อมโยงงานศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยจะมีการตั้งธนาคารภูมิปัญญาเพื่อรวยรวมข้อมูลองค์ความรู้และนำไปถ่ายทอด และอนาคตเป้าหมายคือการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล เพราะด้วยความหลากหลายนี้จะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย 1 โรงเรียน 4 ภาษา คือไทย อังกฤษ จีน และภาษาท้องถิ่น เป็นต้น วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนมาที่โลกตะวันออก ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง เกวียน หรือมอเตอร์ไซต์ฮ่างจะมีคุณค่า ดังนั้นต้องมีการฟื้นฟูศิลปะ วัฒนธรรมทุกพื้นที่
นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับหอศิลป์ฯ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับงบประมาณจากกทม.แล้ว ทั้งที่ได้รับมาเป็น 10 ปี โดยบอกว่าที่ทำมานั้นผิดกฎหมาย ทางแก้คือแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้เพื่อพัฒนางานทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงของการรัฐประหาร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่ออีก 4ปี หรืออาจจะยาวถึง 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นตนมองว่าหากจะทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรมก็ควรจะเลือกนักการเมือง พรรคการเมืองที่มองเห็นคุณค่า และความสำคัญของศิลปะ วัฒนธรรม และเชื่อว่าแต่ละพรรคการเมืองที่มาร่วมกันพูดคุยในวันนี้มีต่างมีนโยบาย มีแนวคิดในการนำวัฒนธรรมมาพัฒนา มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ แน่นอนเราไม่ได้บอกว่าเรื่องศิลปวัฒนธรรมสำคัญกว่าอย่างอื่น เพราะประเทศมีหลายอย่างที่ต้องทำแต่ก็ต้องพยามยามที่จะส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมด้วย
นายนิกร กล่าวว่า นโยบายพรรคคือการคงความเป็นไทยสู่ความเปลี่ยนผ่าน เพราะประเทศไทยมีของดีอยู่มากมายแต่อาจหลงลืมไป
ร.ต.อ.ดร.จอมเดช กล่าวว่า พรรคสนับสนุนแนวคิดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ไม่กดทับสิทธิเสรีภาพ ส่วนกลางไม่ควรเป็นศูนย์กลางความคิด เพราะประเทศไทยมีความหลากหลาย แต่ก็ต้องสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ปรับระบบส่งงบประมาณตรงลงไปยังพื้นที่เพื่อให้มีงบมากพอที่จะพัฒนาพื้นที่ ของตน เพราะจะเห็นว่าหลายจังหวัดใช้อัตลักษณ์ของพื้นที่พัฒนาตัวเองอย่างมาก เช่น สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ เป็นต้น นอกจากนี้ควรส่งเสริมเอกชนมาร่วมทุนในภาคการศึกษาอาชีวะศึกษา จบมาก็มีงานรองรับ ซึ่งตรงนั้นจะมีเรื่องของศิลปวัฒนธรรมอยู่ด้วย.