'เรืองไกร-เสรีพิศุทธิ์'ร้องกกต.เอาผิดยุบพปชร.
การเมือง
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า โดยกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่พรรคพลังประชารัฐกลับเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเท่ากับกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ส่วนกรณีที่นายอุตตม สาวนายน กลับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก่อนเป็นสมาชิก ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 28 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เข้าข่ายครอบงำพรรค ผิดมาตรา 92 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค อย่างไรก็ตามขณะที่กรณีโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าเข้าข่ายเป็นการแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน เข้าข่ายขัดหลักการจัดตั้งพรรคการเมือง มาตรา 20 (2) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) เช่นกัน
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยว เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เช่นเดียวกัน โดยขอให้กกต.ใช้มาตรฐานเดียวกันกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งกกต.ใช้เวลาเพียง 4-5 วันก็สามารถเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคได้ โดยระบุว่าการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เข้าข่ายความผิดเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ถือเป็นกบฏ ถ้าไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษอาจจะต้องได้รับโทษจำคุก หรืออาจถูกประหารชีวิตไปแล้ว อีกทั้งเข้าข่ายเป็นผู้ไม่เลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ยังมาเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้มาเป็นแคนดิเดตนายกฯดังนั้นตนจึงต้องมายื่นเรื่องต่อกกต. ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่รวมในเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และยังรับข้อตอบแทนและเงินเดือน รวมถึงการกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นการครอบงำพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังชล ที่มองว่าเป็นการนำงบประมาณของพรรคไปแจกจ่ายในโครงการต่างๆเพื่อซื้อเสียงล่วงหน้า ทั้งนี้ถ้ากกต.ไม่ดำเนินการในระยะเวลาที่เท่ากันกับยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็จะมีความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ.