ข่าวนายกฯสั่ง'ลด-ละ-เลิก'ใช้สารเคมีเร็วที่สุด - kachon.com

นายกฯสั่ง'ลด-ละ-เลิก'ใช้สารเคมีเร็วที่สุด
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยังไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่มีกระแสสังคมที่เรียกร้องคัดค้านเรื่องนี้  ว่า   รัฐบาลมุ่งหวังให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ในอนาคตอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้กำหนด ขณะที่ตนกำชับว่าต้องตอบคำถามทุกคนทุกฝ่ายให้ได้ สำหรับรัฐบาลต้องเดินหน้าตามแผนที่นำไปสู่การลด-ละ-เลิกให้ได้ ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ส่วนที่พูดกันมากว่ามีกลุ่มทุนสารเคมีนั้น ตนไม่รู้ว่ากลุ่มนี้เป็นใครที่มีบทบาทกำหนดทิศทางสารเคมีของไทย ซึ่งตนคิดว่าบางครั้งเป็นการมองหาวิธีพูดที่ทำให้เกิดความเสียหาย

“ถ้าเรายังสร้างความเสียหายหรือไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันต่อไป หลายสิ่งจะเกิดไม่ได้ในวันหน้า เราได้พยายามทำหลายอย่างให้เกิดการยอมรับและความเชื่อมั่น การแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผมพูดไปหลายครั้ง รัฐบาลนี้มีการลงโทษมากมาย มูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ก็ยังไม่สนใจกัน ซึ่งทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เข้ามาเสนอหรือมีส่วนร่วมในทางที่เป็นไปได้ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งผมติดตามทุกวันในการแก้ปัญหา”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า  สำหรับการทำเกษตรก็เช่นกัน เรามีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.เกษตรดั้งเดิม 2.การเกษตรที่ใช้สารเคมี ซึ่งการใช้สารเคมีอะไรต่างๆ ก็ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะมุ่งไปสู่การทำเกษตรตามมาตรฐานแหล่งผลิตตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) คือการทำเกษตรที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด มีการตรวจสอบ มีการขึ้นทะเบียน วันนี้เพิ่มมากขึ้นหลายล้านไร่  และ 3.การทำเกษตรอินทรีย์ที่มีเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านไร่ เราต้องแยกเป้าหมายให้ออก เราต้องผลักดันเกษตรดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรมาตรฐานจีเอพี แล้วไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ไปดูตัวเลขเหล่านี้มีมากมาย

“อย่ามาบ่นว่าเราไม่ดูแล เพราะที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณไปมากมายมหาศาล ซึ่งรัฐบาลลงไปดูแลทั้งหมดทุกภาคส่วน พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งด้วย และให้ความรู้ อบรม พัฒนา รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเมื่อมีความเดือดร้อน การประกันข้าว ประกันข้าวโพด ประกันอะไรต่างๆ ก็ใช้เงินไปมหาศาล หลายแสนล้านบาทของเกษตรกรและอื่นๆด้วย ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข ถ้าท่านบอกว่าเอาตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ แล้วตรงนั้นลดลงไปเลย ถามว่าความสมดุลของประเทศมันจะเกิดไหม ฝากไปคิดตรงนี้เป็นการบ้านแล้วกัน ช่วยกันคิด”นายกรัฐมนตรี กล่าว