ข่าวศาลยธ.เร่งพิจารณาคดีเลือกตั้ง ผู้ร้องถูกตัดสิทธิ์สมัครสส. - kachon.com

ศาลยธ.เร่งพิจารณาคดีเลือกตั้ง ผู้ร้องถูกตัดสิทธิ์สมัครสส.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลัง กกต.ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากที่ กกต.ประกาศรายชื่อ มีผู้ถูกตัดสินสมัครเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 16 ก.พ.จำนวน 7 สำนวน เเละวันที่ 17 ก.พ.จำนวน 16 สำนวน จำนวน 23 สำนวน แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ เเต่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่รับคำร้องเเละไต่สวนก่อนที่จะส่งศาลฎีกาวินิจฉัยก็ได้มีการเปิดทำการในวันหยุดเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วเเละมีประสิทธิภาพ โดยคดีที่ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งสองวันส่วนใหญ่จะเป็นกรณีพรรคการเมืองที่ผู้ร้องสังกัดเป็นสมาชิกไม่ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวเเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 145 พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ส่วนที่เหลือเป็นกรณีเป็นสมาชิกพรรคเดียวน้อยกว่า 90 วัน (ลาออกจากพรรคเดิมแล้วมาเป็นสมาชิกพรรคใหม่) ,ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย เเละเป็นสมาชิกพรรคมากกว่า 1 พรรคการเมือง ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

โฆษกศาลยุติธรรม ยังระบุอีกว่า สำหรับคดีเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จะมีลักษณะคดีดังเช่นกรณีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้กกต. รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กกต. รับสมัครหรือเพิ่มชื่อเป็นผู้สมัคร, กรณีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ กกต. ที่ให้ถอนการรับสมัครตามคำร้องของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือผู้สมัครอื่น เเละกรณีผู้อำนวยการเขตการเลือกตั้งขอให้ถอนชื่อผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้งเข้ามาหลายรูปเเบบ เเละฟ้องในปริมาณมาก ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการเตรียมความพร้อมโดยมีการอบรมเเละเเจกคู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการส่วนวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อใช้เป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาและศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายให้ไต่สวนพยานแทน รวมถึงความพร้อมในส่วนของบุคคลากรและเครื่องมือสื่อสารในการติดต่อระหว่างศาล เพื่อรองรับคดีเลือกตั้งที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาคารสถานที่ งบประมาณ อัตรากำลัง รวมถึงจะใช้เทคโนโลยีในการประชุมซักซ้อมความเข้าใจให้แก่บุคลากรในศาลยุติธรรม เพื่อให้พร้อมที่สุดในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายด้วยความรวดเร็ว.