จิตแพทย์ชี้แสดงความเห็นต่างรุนแรงเป็นปชต.อ่อนหัด
การเมือง
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นหลักของการจัดการกับเรื่องนี้จึงเน้นเรื่องการจำกัดเวลาการรับ และการสื่อสาร แค่ 1-2 ชั่วโมง ก็ควรพัก หันไปทำกิจกรรมที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ทั้งการงาน การเรียน เรื่องครอบครัว หากจัดการเรื่องเวลาได้ดีก็ไม่ค่อยมีปัญหา และเป็นวิธีการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด แต่ที่มีปัญหาเพราะไม่ค่อยได้จัดเวลา นอกจากนี้ เราต้องรู้ว่าตัวที่ทำให้เกิดความเครียดมากคือ อารมณ์ ดังนั้นสื่อประเภทไหนที่มีอารมณ์รุนแรงก็อย่าไปเสพ อย่าส่งต่อ เพราะคิดว่าการเมืองสร้างสรรค์คงไม่ต้องใช้สื่ออารมณ์ที่รุนแรงต่อกัน การสื่อสารควรเน้นที่การไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งมีหลักฐานจากการทำแล็ปทางสังคมพบว่าการที่ผู้รับสารสะท้อนถึงคนที่ใช้สื่อแบบใช้อารมณ์มากเกินไป โดยการชี้แจงด้วยเหตุผลไม่ต่อว่ารุนแรง ทำให้ความรุนแรงลดลง ดังนั้นคนรับสารต้องช่วยกันสะท้อนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนแต่ต้องสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การแสดงความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองรุนแรง แม้จะอยู่ในบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบอ่อนหัดที่เริ่มต้นก็แสดงความเห็นรุนแรงต่อกัน แต่พอประชาธิปไตยสุกงอม มีวุฒิภาวะมากขึ้นก็จะเริ่มมองความเห็นต่างเป็นโอกาสมากกว่าศัตรู ทั้งนี้ สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งกันมานาน เรามีการเรียนรู้แน่นอน คนเริ่มลดความรุนแรงในการแบ่งขาว กับดำ มองเป็นเรื่องของความแตกต่างมากกว่าความถูกผิด แต่แน่นอนว่าทุกประเทศที่เพิ่งผ่านวิกฤติมาก็ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าแม้ว่าเราจะมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน ก็ต้องการให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรคเพื่อให้สังคมไทยมีทางออก.