24มี.ค.เดิมพันสูง!หวั่น'บิ๊กตู่'แพ้ถล่มทลายวนลูปรัฐประหาร
การเมือง
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ก็ไม่มีใครบอกได้ เพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนตลอด และไม่ใช่ว่าจะพลิกผลการเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะมีความเชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทุกฝ่ายทั้ง นักการเมือง กกต. และผู้เลือกตั้งก็มีพฤติกรรมการรับข่าวสารเปลี่ยนไป ทุกคนกลายเป็นหัวคะแนนด้วยตัวเอง สามารถส่งขอมูลได้จำนวนมาก เผลอๆ มากกว่าเมื่อเทียบกับหัวคะแนนแบบเดิมที่รับเงินเดินตามนักการเมือง แจกใบปลิว เคาะประตูบ้าน แต่โซเชียลฯ มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือเกิดการแสดงความเห็นที่หลากหลาย แต่ที่น่ากังวลคือข้อมูลเท็จ และข้อความที่สร้างความเกลียดชัง
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่าสำหรับคำถามที่ว่าหากนายกฯ ไม่ได้มาจากฝ่ายทหารจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่นั้นตอบยาก เอาให้มีการเลือกตั้งก่อน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมาก เดิมพันสูงเพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนหน้าตารัฐบาลแต่หมายถึงรูปแบบการปกครอง เช่น กึ่งประชาธิปไตย เผด็จการ นี่เป็นมุมองของภาคประชาชน แต่หากมองในมุมของผู้ที่รัฐประหารเข้ามา การเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งมีเดิมพันสูงมาก แพ้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ทำมา 5 ปี ก็ไม่มีความหมาย ยิ่งหากเป็นการแพ้แบบถล่มทลายปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้การเลือกตั้งครั้งนี้มีมติใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก นโยบายต่างๆ หลากหลายมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น ถ้าการเลือกตั้งผ่านไปจริงๆ ไม่สะดุด ก็จะมีสภาที่มีสีสัน จะมีส.ส.หลากหลาย อายุน้อยๆ อย่างไรทั้งนี้ตนไม่ห่วงคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าเขาจะไปเลือกตั้งเยอะ และเขาเองก็มีวิจารณญาณ
นายสุณัย กล่าวว่า หากใช้บริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นกรอบ ถือว่าไทยล้าหลังที่สุดแม้แต่การยอมรับฉันทามติก็ตอบใครเขาไม่ได้ เพราะทันทีที่มีรัฐประหาร คำสัญญาแรกที่ให้กับต่างประเทศ คือจะจัดให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด หมายความว่าเสนอตัวเอาตัวเองออกจากความผิดปกติเร็วที่สุด เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่น แต่ขณะเดียวกันกลับชงประเด็นนี้ในน้ำหนักที่เบามากต่อคนไทยด้วยกันเอง คืออะไร เพราะฉันทามติในสังคไทยมองว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยหรือยัง วันนี้มวลชน ชนชั้นสูงในเมืองไทยยังมีคนที่เอาเลือกตั้ง และคนไม่เอาเลือกตั้ง ทำให้ตอนนี้คาดเดาผลได้ยากมาก สำหรับเรื่องโซเชียลฯ ตอนนี้ตนมองว่าน่าเป็นห่วงเพราะมียิ่งทำให้มีการขุดหลุมฝังข้อมูลเฉพาะฝั่งของคนเองมากขึ้น ไม่เปิดรับข้อมูลอีกฝ่าย มีการสื่อสารข้อมูลเท็จ การสร้างความเกลียดชัง ลดทอนความเป็นมนุษย์ เรื่องเหล่านี้จะจัดการอย่างไร แต่ที่พบคือทุกฝ่ายลงมาเป็นผู้ผลิตข้อมูล มีการถือครองสื่อ ทั้งพรรคการเมือง และทหาร ดังนั้นอยากให้มีเคลียร์ริ่งเฮาส์ด้านสื่อ ตรวจสอบข้อมูลเท็จ พร้อมติดแฮชแท็ก #factcheck
"การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เอาปัญหาที่มีอยู่มาแบว่ามีอะไรบ้าง รากเหง้าของปัญหาเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าใครพูดเรื่องนี้จะมีคนไปเฝ้าหน้าบ้าน หรือการวิจารณ์เรื่องอื่น การตรวจสอบต่างๆ ทำไม่ได้ แถมยังโต้กลับด้วยความรุนแรง อย่างกรณีเพลง หนักแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังมากที่สุดในบรรดาเพลงที่มีอยู่" นายสุณัย กล่าว
ด้าน ศ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ นี้เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมากกว่าการเลือกตั้งทั้งหลายที่ผ่านมา เพราะถ้าในวันที่ 24 มี.ค.นี้การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง จะเสมือนการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเอา และไมเอารัฐประหาร หากฝ่ายไม่เอาชนะถล่มทลายรวมกัน 350 เสียง จะได้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ แต่ถ้าฝ่ายเอารัฐประหารชนะเพียง 126 เสียงก็ได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่คนไทยจะต้องออกไปเลือกตั้ง และไม่โหวตโน อย่างไรก็ตามแม้ว่าหากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่อาจะมีภาพเหมือนฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมากแล้วจะทำให้บ้านเมืองสงบสุขหรือไม่ ส่วนตัวคงพูดยาก แต่คงไม่ได้วิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์
ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญ ที่น่าสนใจคือทหารทำไมถึงสนใจการเลือกตั้ง จากการศึกษาพบว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญหลายมุม อาทิเพื่อความชอบธรรม เพื่อให้เผด็จการอยู่ได้ ต่ออายุ รูปร่างการปกครองภายนอก แต่ไส้ในเหมือนเดิม แปลงเผด็จการแบฮาร์ดคอให้อ่อนลง เป็นต้น นอกจากนี้ แรงจูงใจที่เผด็จการหันมาสนใจจัดการเลือกตั้ง เพราะทำให้สามารถเก็บข้อมูลคนที่เป็นปฏิปัก หรือมีชุดข้อมูลแบบไหน เพื่อผลิตรูปแบบการตอบโต้ได้ สำหรับการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ กับนโยบายหรือข้อเสนอของบางพรรคการเมือง อย่าง เรื่องปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณ และให้อำนาจนายกปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์มองว่าค่อนข้างเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า อย่างการปลด ผบ.เหล่าทัพ สะท้อนว่าพลเรือนเหนือกว่าทหาร แต่ต้องถามว่ามาถูกเวลาหรือไม่ การที่ทหารต้องมาค้านแบบหลังชนฝาก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยอย่างราบรื่น.