'พล.ต.กฤษณ์' แจงทำไมต้องมี บก.กองทัพไทย
การเมือง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. พลตรี กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ได้ชี้แจงทำความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ ของกองบัญชาการกองทัพไทยว่า กองทัพไทย ถือกำเนิดคู่กับความเป็นชาติไทย เหล่าทหารหาญ ได้พลีเลือดเนื้อ และชีวิต เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสร้างความผาสุกให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เดิมที่มีเพียงกองทัพบก ต่อมาจึงได้จัดตั้งกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตามลำดับ สำหรับกองบัญชา การกองทัพไทยนั้นได้จัดตั้งขึ้นในภายหลัง ซึ่งบางคนอาจมีคำถามว่า “ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย ?”
บทเรียนที่ได้จากการปฏิบัติการทางทหารในยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบันและอนาคตนั้น ยากที่เหล่าทัพใดจะสามารถชนะในสนามรบได้โดยลำพัง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การรบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รุนแรง และครอบคลุม หลายมิติ มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องสนธิขีดความสามารถของทุกเหล่าทัพเข้าด้วยกันอย่างประสานสอดคล้อง เพื่อนำขีดความสามารถของกำลังเหล่าทัพหนึ่งไปชดเชยจุดอ่อนของกำลังอีกเหล่าทัพหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในวงการทหารรู้จักกันดีในนาม “การปฏิบัติการร่วม” หรือ “Joint Operations”
เมื่อมีการปฏิบัติการร่วม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และ กำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะเสนาธิการร่วม (the U.S. Joint Chiefs of Staff) ขึ้นในปี 2485และได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย วางแผน และอำนวยการปฏิบัติการของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดตั้ง “กองบัญชาการทหารสูงสุด” เป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากำลังสามเหล่าทัพในปี 2503ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย
จะเห็นได้ว่า การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแล การปฏิบัติการร่วม ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง กองทัพของประเทศซึ่งมีหน่วยงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว ก็ล้วนพยายามพัฒนาให้มีบทบาทและความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศที่ยังไม่มี ก็พยายามจะจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
ดังนั้น สิ่งที่ควรถามจึงไม่ใช่ “ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย ?” แต่สังคมควรถามว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันพัฒนาและเสริมสร้างให้กองบัญชาการกองทัพไทยสามารถขับเคลื่อนงานด้านการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายภายใต้สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป ?” เพื่อประเทศชาติและลูกหลานไทยของเราทุกคน.