ข่าวกกต.แจงกาเลือกผู้เสียชีวิตไม่ใช่บัตรเสีย - kachon.com

กกต.แจงกาเลือกผู้เสียชีวิตไม่ใช่บัตรเสีย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) กล่าวชี้แจงรายละเอียดการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งส.ส.ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ว่า กรณีผู้สมัครจ.ชุมพรเขต 2 และจ.ร้อยเอ็ด เขต 4 ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน รอบนี้สามารถกาบัตรลงคะแนนให้ได้ ไม่ถือเป็นบัตรเสียเพราะในบัตรมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แฝงอยู่คะแนนของคนตายจะถูกส่งต่อให้พรรค แต่ถ้าผู้เสียชีวิตชนะการเลือกตั้ง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่  ยกเว้นเฉพาะผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิเท่านั้นที่จะเป็นบัตรเสีย ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนบัตรเสียจะน้อย บัตรเสียจะมีเพียงเขียนข้อความหรือจดหมายฝากลงไปในบัตร หลังการประกาศชื่อผู้สมัคร ล่าสุดมีคดีที่ศาลฎีกา 241 คดี แนวโน้มจะได้รับสิทธิสมัครกลับเข้ามาครึ่งๆ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ 2 สัปดาห์สุดท้าย จะเน้นย้ำถึงการกาเบอร์ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อจะเป็นบัตรเสีย ซึ่งโอกาสมีไม่ถึง50 เขตเลือกตั้ง  

"การใช้สิทธิล่วงหน้าในวันที่  17 มี.ค.นี้ เป็นด่านแรกของการเลือกตั้ง รวมถึงการใช้เลือกตั้งสำหรับคนพิเศษ กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจำนวนคนไม่เยอะแต่มีความซับซ้อน คล้ายจำลองการเลือกตั้งนอกเขตและในเขตมารวมกัน ซึ่งกทม.จัดที่บ้านบางแค แต่ในรอบนี้มีทั้งหมด 10 เขต แม้กฎหมายกำหนดให้กากากบาทด้วยตนเอง แต่คนพิเศษ (ยกเว้นคนตาบอด) ที่ไม่สามารถกาบัตรด้วยตัวเอง  เช่น คนพิเศษในกลุ่มมือสั่น มือไม่มีแรงแต่สติสัมปะชัญญะดี สามารถร้องขอให้มีผู้ช่วยเหลือติดตามเข้าไปในคูหาลงคะแนนเพื่อช่วยกาบัตร   และขอให้ระวังผู้พิการที่อาจทดสอบระบบที่ราชการออกแบบ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุผู้ถือบัตรผู้ป่วยจิตเวชไปขอใช้สิทธิ จนต้องแก้ปัญหาให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรผู้ป่วย"นายณัฏฐ์กล่าว

นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการวินิจฉัยบัตร กรณีผู้สมัครถูกตัดสิทธิ ก่อนนับคะแนนกกต.จะตัดชื่อบุคคลนั้นออกไปก่อนเพื่อไม่ให้มีปัญหาต้องวินิจฉัยบัตร  ส่วนการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการ กรรมการประจำหน่วยฯต้องกรอกผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการ ในแอพพลิเคชั่นแรบบิทรีพอร์ต และกรอกเป็นเอกสารหลักฐานเพื่อตรวจทานเปรียบเทียบ ป้องกันเหตุผิดพลาด หากกรอกตัวเลขในแรบบิทรีพอร์ตผิดก็ไม่ต้องรับผิด  กรณีกรรมการประจำหน่วยฯมาปฏิบัติงานไม่ครบอำเภอต้องส่งกรรมการสำรองมาให้ครบก่อนการนับคะแนน  ส่วนข้อกังวลเรื่องบัตรพลัดหลง กรณีบัตรเลือกตั้งจะมี 4 สี ใช้ภาคละสี บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและนอกราชอาณาจักรจะมีตำหนิไม่เหมือนกับบัตรที่ใช้ในวันที่ 24 มี.ค. จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีบัตรพลัดหลง  โดยในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ จะมีการติวเข้มการเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนกรุงเทพมหานครทราบว่าในวันที่ 23 ก.พ.นี้ จะประชุมเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการการเลือกตั้งล่วงหน้าของผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวน 4 แสนคน

ด้านนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย  กรรมการการเลือกตั้ง   กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้  เป็นครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยเฝ้ารอ   นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับตาดูประเทศไทยว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยสุจริตเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากลหรือไม่    จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนออกมาใช้สิทธิ์ เพราะ กกต.ตั้งเป้าให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ  80  และบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 2   สิ่งที่ห่วงคือการทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบต่างๆ และการกาบัตรลงคะแนน  โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เขต เหลือ 350 เขต  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน  

“การนับคะแนนใช้ระบบจัดสรรปันส่วน  ทุกคะแนนมีค่าไม่ทิ้งน้ำ  บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีค่า 3 อย่าง ได้ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่นายกฯ ทั้งนี้ขอย้ำว่าการที่ กกต.ออกระเบียบต่างๆมา เป็นการออกตามกฎหมาย ไม่ได้เอาใจพรรคการเมืองใด  เราปฎิบัติเท่าเทียมกันทุกพรรค  ” นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย  กล่าวอีกว่า สำหรับบุคลากรกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต  ขอให้เลือกเฟ้นคนที่เป็นกลาง  ไม่ฝักใฝ่การเมือง  มีประสบการณ์   ไม่ใช่คนที่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่  และเพื่อลดข้อกังวลในการปฏิบัติงาน  กกต.จึงได้ออกระเบียบให้ถือว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง  เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา  หากกระทำการโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครองทั้งทางแพ่งและอาญา ในการปฏิบัติหน้าที่ขอให้ทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบต่างๆ โดยขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจสนับสนุนการเลือกตั้งขึ้นแล้ว  เพื่อเป็นหน่วยหลักในการประสานงานดูแลด้านความสงบเรียบร้อย   ส่วนกรณีที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ขอเปลี่ยนเวลาลงคะแนนจาก 08.00-18.00 น. เป็น 08.00-15.00 น.  แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้   แต่ กกต.จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มและประสานให้ทหาร ตำรวจ ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดแล้ว

"ในส่วนของการรณรงค์การเลือกตั้ง เมื่อ กกต.ใหม่เข้ามาก็มีความคิดที่จะต่อยอดการทำงาน โดยที่จะเข้าไปเดินเคาะประตูบ้านเชิญชวน   และอธิบายขั้นตอนในการใช้สิทธิ ในช่วงวันที่ 1-23 มี.ค.นี้    ทั้งนี่หลังการเลือกตั้ง กกต.จะประเมินผล  หากผลการตอบรับดี การเลือกตั้งครั้งหน้าจะจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน  และขอให้เน้นประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว  เปิดทั้งวันทั้งคืนยังไงก็จำได้  เหมือนเพลงที่เราไม่ชอบ  เปิดฟังทุกวันจนชอบไปเอง  หรือเรามองผู้หญิงไม่สวยมองทุกวันจนสวย" นายธวัชชัยกล่าว

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตนอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ไปดูการเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 17 มี.ค. เพื่อให้คำแนะนำ เพราะมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก  จึงเป็นห่วงเรื่องการแจกบัตรให้กับผู้มีสิทธิ ซึ่งจะต้องตรงกับเขตของผู้มีสิทธินั้น  รวมถึงแนะนำการกาบัตรที่ถูกต้อง   นอกจากนี้ขอให้แต่ละพื้นที่เตรียมทำแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า  โดยประเมิน  ว่าก่อนและหลังวันที่ 24 มี.ค.จะเกิดเหตุอะไรในพื้นที่บ้าง  เช่น ฝนตกหนัก พายุเข้า น้ำท่วม ไฟไหม้ ไฟดับ  อีกทั้งหน่วยเลือกตั้งไหนที่อยู่บนเกาะในทะเลให้ดูด้วยว่าจะใช้วิธีขนหีบเลือกตั้งอย่างไร   รวมทั้งขอให้ดูแลการปิดป้ายหาเสียง  ทั้ง 3 แบบ  เนื่องจากสถานที่ปิดป้ายหาเสียงยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในสถานที่ราชการ  จึงขอให้ผู้ว่าฯและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยจัดหาสถานที่เพิ่มเติม และสอดส่องดูแลปัญหาทำลายป้ายหาเสียง.