ไฟเขียวนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา คาดมีผลสัปดาห์หน้า
การเมือง
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่มีการปรับแก้เพิ่มคือเพิ่มบทบัญญัติให้ผู้สนใจนำกัญชาของกลางไปศึกษาวิจัยในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แทนการนำไปทำลายทิ้ง เช่น ไปวิจัยหาสารสำคัญ ศึกษาสารปนเปื้อน เป็นต้น ดังนั้นแทนที่จะตั้งคณะกรรมการทำลายของกลาง ก็เป็นคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ แทน นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วยก็มีการแก้ไข เดิมอนุญาตให้ผู้ป่วยใช้เฉพาะตำรับกัญชาสำเร็จรูปได้เท่านั้น ก็มีการแก้ไขให้มีการใช้ต้น ใบ ดอก ของกัญชาสำหรับรักษาโรคได้ เพราะยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ ในส่วนของแพทย์ที่สามารถใช้กัญชาได้ คือแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ที่มีใบรับรองแพทย์แผนไทย หรือแผนไทยประยุกต์ รวมถึงกลุ่มหมอพื้นบ้านที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการรับรองไปแล้วประมาณ 3 พันคน โดยขณะนี้มีการทำระบบข้อมูลเชื่อมต่อกับร่างระเบียบคุณสมบัติผู้ที่ใช้กัญชารักษาโรค ซึ่งร่างนี้กำลังจะเสนอรมว.สาธารณสุข เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะสามารถใช้ได้จริงต้องผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคจากกรมการแพทย์ที่กำลังร่างหลักสูตร
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งตรงนี้มีการล็อคเอาไว้ว่าใน 5 ปี แรกต้องเป็นการทำร่วมกับหน่วยงานรัฐ เท่านั้น ในส่วนของภาคเอกชน หากเป็นนิติบุคคลต้องเป็นคนไทย 2 ใน 3 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะมีการนำไปประชาพิจารณ์ในวันที่ 26 ก.พ. นี้ พร้อมๆ กับร่างประกาศตำรับยา และร่างประกาศวิชาชีพที่สามารถปรุงยา เป็นต้น
ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำหรับตำรับยาแพทย์แผนไทยที่จะมีการเอากัญชามาใช้ประโยชน์ปัจจุบันสังเคราะห์ได้ 96 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม ก. มี 16 ตัว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูตรชัด วิธีการชัดสามารถใช้ได้เลย ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการ ปวด นอนไม่หลับ เป็นต้น 2.กลุ่ม ข.กลุ่มที่มีสูตรชัด แต่วิธีการปรุงยายังไม่ชัด ต้องศึกษาเพิ่มเติม 3.กลุ่ม ค. ต้องศึกษาวิจัย และ 4.กลุ่ม ง. กลุ่มที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น อนุสัญญาไซเตส เพราะมีการห้ามใช้สมุนไพรบางตัว
เมื่อถามว่าขณะนี้มีหลายพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยการชูนโยบายปลูกกัญชาเสรี แต่ในแง่ของกฎหมายทำได้แค่ไหน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ระบุว่าผู้ที่จะได้รับอนุญาตเช่น นักวิจัย มหาวิทยาลัย กลุ่มเกษตร วิชาหกิจชุมชน เหล่านี้ต้องมาแจ้งวัตถุประสงค์ของการปลูกอยู่แล้วว่าจะปลูกเพื่ออะไร ทำอะไร เช่นเพื่อทำวิจัย ทำร่วมกับใคร ปริมาณเท่าไหร่ หรือปลูกเพื่อส่งการแพทย์แผนไทยก็ต้องมีรายละเอียดว่าส่งใคร ปริมาณเท่าไหร่ คล้ายๆ กับการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง เป็นต้น หลักการคือไม่ได้อนุญาตให้มีการปลูกกัญชาเสรี ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการใช้กัญชาในปริมาณที่เหมาะสม ไม่หลุดไปนอกระบบ และเพื่อให้ทราบปริมาณที่ชัดเจนเพราะประเทศไทยยังอยู่ภายใต้สนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ อีกทั้งยังต้องรายงานโควตาการผลิต ส่งออก ให้กับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิสต์เซอร์แลนด์ทราบด้วย.