ข่าว'กรมธรณี'ชี้แจ้งเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าไม่ได้ - kachon.com

'กรมธรณี'ชี้แจ้งเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้าไม่ได้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า หลังการเกิดแผ่นดินไหวนำ 13 ครั้ง มีขนาด 2.0-3.3 และมีแผ่นดินไหวหลัก ขนาด 4.9 ลึก 21 กม. ที่ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ต่อมามีอาฟเตอร์ช็อก จนถึงเมื่อเวลา 10.07 วันที่ 22ก.พ. มีขนาด 1.5-3.7 รวมทั้งสิ้น 32 ครั้ง ซึ่งเป็นขนาดเกิดการแผ่นดินไหวที่ประชาชนไม่สามารถรับรู้ถึงความสั่นไหวได้ ถือว่าสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวคลี่คลายลงแล้ว ไม่มีเหตุการณ์ให้น่าเป็นกังวล

“อย่างไรก็ตามการเกิดแผ่นดินไหวเราไม่สามารถบอกได้เลย ว่าจะเกิดเมื่อไร หรือเกิดที่ไหน แต่เราสามารถนำข้อมูลสถิติที่เกิดแผ่นดินไหวใช้ในการคาดคะเนได้บ้าง อย่างเหตุการณ์ล่าสุดในพื้นที่อ.วังเหนือ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาที่มีความยาวประมาณ 90 กม. หากดูตามสถิติพบว่า มีแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ที่อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2537 ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 25 ปี แต่เราก็บอกไม่ได้ว่าอีก 25 ปีข้างหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวในขนาดที่ส่งความเสียหายในพื้นที่อีกหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการเก็บข้อมูลสถิติที่เกิดแผ่นดินไหวใช้ในการคาดคะเน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะรอยเลื่อนมีพลังทั้ง 15 กลุ่มที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย” นายสมหมาย กล่าว

นายสมหมาย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมฯธรณี สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย พบว่าในอ.วังเหนือ จำนวน 7 ตำบล 18 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 72 หลัง สถานที่ราชการ 4 แห่ง และวัด 5 แห่ง แบ่งเป็นต.ทุ่งฮั้ว 7 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 39 หลัง สถานที่ราชการ 3 แห่ง วัด 2 แห่ง ต.ร่องเคาะ 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ต.วังแก้ว 6 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 28 หลัง สถานที่ราชการ 1 แห่ง วัด 2 แห่ง ต.วังซ้าย 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ต.วังทอง 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 2 หลัง ต.วังเหนือ 1 หมู่บ้าน วัด 1 แห่ง และต.วังใต้ 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ทั้งนี้ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

อธิบดีกรมธรณี กล่าวว่า สิ่งก่อสร้างที่เกิดความเสียหายนั้น เมื่อเทียบกับอดีตถือว่าความเสียหายลดลง เพราะโครงสร้างอาคารสมัยใหม่ต้องทำตามกฎระเบียบของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยการก่อสร้างอาคารควรมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามรอยเลื่อนมีพลังควรศึกษาถึงแนวปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ควรมีความตื่นตัวแต่ไม่ต้องตระหนกจนเกินเหตุ.