ผ่านแล้ว!ตัดคะแนนคนฝ่าฝืนกฎจราจร แต้มหมดยึดใบขับขี่
การเมือง
สมาชิกสนช.ต่างซักถามถึงหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในประเด็นการตัดคะแนนความประพฤติของบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎจราจร รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับการใช้รถ หรือยินยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้ โดยกังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ โดยกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หลังจากร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องออกข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการตัดคะแนนผู้ขับขี่ ซึ่งเบื้องต้นร่างข้อกำหนดระบุให้ผู้ขับขี่มีคะแนน 12 คะแนน ขณะที่อัตราการตัดคะแนนนั้น จะมีหลักเกณฑ์ อาทิ การฝ่าไฟแดง ตัด 1 คะแนน และการไม่หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ตัด 3 คะแนน ทั้งนี้ หากคะแนนถูกตัดจนหมดจะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ และหากอยากได้แต้มคืนจะต้องเข้ารับการอบรมโดยต้องมีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สตช.จะออกข้อกำหนดต่างๆ นั้น จะจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนด้วย
สำหรับการระงับการใช้รถ หรือยินยอมให้ผู้ขับขี่ขับรถได้นั้น กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดใบขับขี่ลักษณะดังกล่าวได้ ดังนั้นกรณีที่พบผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาและมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายกับผู้ใช้ทางหรือประชาชน ร่างกฎหมายจึงเขียนให้สิทธิเจ้าหน้าที่ระงับการใช้รถบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และหากบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนั้นพ้นจากภาวะที่จะก่ออันตราย เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถปล่อยให้ขับรถต่อไปได้
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ซึ่งสงวนความเห็นในมาตรา 160 จัตวา ว่าด้วยการให้นิติบุคคลที่เป็นผู้ให้เช่ารถ ชำระโทษปรับ หรือรับโทษแทนผู้เช่ารถที่ฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎจราจร กรณีที่ผู้เช่ารถไม่ชำระค่าปรับหรือรับโทษตามกฎหมายนั้น กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยังยืนยันว่า ไม่สามารถเพิ่มเนื้อหาดังกล่าวได้ เพราะเนื้อหาขัดกับหลักการ และตามกฎหมายไม่สามารถบังคับให้ผู้อื่นชำระโทษปรับหรือรับโทษแทนบุคคลที่กระทำผิดได้ ทำให้ที่ประชุมสนช.ถกเถียงกันอย่างมากและไม่สามารถหาข้อยุติได้ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมในขณะนั้น จึงได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที
ภายหลังพักการประชุมไปนานเกือบ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมสนช.จึงกลับมาประชุมอีกครั้ง โดยกรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้โดยให้นิติบุคคลแจ้งชื่อ ที่อยู่ พร้อมหลักฐานอื่นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่ขับขี่ในขณะที่กระทำผิดภายใน 30 วัน หากไม่แจ้งนิติบุคคล มีโทษปรับ 5 เท่าของโทษปรับสูงสุด นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมกรณีผู้กระทำผิดกฎจราจรเป็นชาวต่างชาตินั้น ให้พนักงานสอบสวนแจ้งทราบผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นตามสมควร
จากนั้นที่ประชุมสนช.จึงได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่....) พ.ศ.... ให้ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยเสียงเห็นชอบ 138 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง.