ศาลฎีกาฯไม่คืนสิทธิ 'จีรเดช ทองย้อย' เป็นผู้สมัครโคราช
การเมือง
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายจีรเดช ทองย้อย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 12 นครราชสีมา พรรคประชาชาติ ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติและคืนสิทธิการเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จ.นครราชสีมา พรรคประชาชาติ กรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 12 จ.นครราชสีมา ไม่ประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัคร โดยศาลยกคำร้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำคัดค้าน และเอกสารประกอบรับฟังได้ว่า นายจีรเดช เป็นสมาชิกพรรคประชาชาติ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ตามหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคประชาชาติที่ ปช. 2562/0164 แต่ก่อนหน้านั้นนายจีรเดช ยอมรับว่าเคยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน แม้จะอ้างว่าลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 61 ตามหนังสือขอลาออกฉบับลงวันที่ 6 ธ.ค. 61 แต่ตามเอกสารผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่บันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง ข้อมูลวันที่ 14 ก.พ. 62 แนบท้ายคำร้องของนายจีรเดช ซึ่งพรรคเป็นผู้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลพรรคการเมืองเอง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 25 ประกอบข้อ 24 (6) ปรากฏว่านายจีรเดช สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 61 แสดงว่าในระหว่างวันที่ 26 พ.ย.61 จนถึงวันที่ 6 ธ.ค.61 นายจีรเดชเป็นสมาชิกพรรคเมืองสองพรรคซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 24 กำหนดว่า สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 (1) (3) และ(5) โดยมาตรา 9 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน อาจร่วมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ ( 5) ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น บทบัญญัติมาตรา 24 ประกอบมาตรา 9(5) ดังกล่าวแสดงว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นในเวลาเดียวกัน เป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
เมื่อกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.60 มาตรา 26 บัญญัติว่า ในกรณีที่ปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าบุคคลใดเป็นสมาชิกหลายพรรคการเมืองให้มีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทราบ และลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น การที่บทบัญญัติดังกล่าวให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทราบและลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น ไม่ได้บัญญัติให้หนังสือแจ้งเฉพาะหัวหน้าพรรคการเมืองแรก หรือหัวหน้าพรรคการเมืองหลัง และไม่ได้ระบุให้ลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเฉพาะพรรคการเมืองแรกหรือพรรคการเมืองหลังเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 60 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ซ้ำซ้อนกันทุกพรรค ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ในระหว่างวันที่ 26 พ.ย.61 จนถึงวันที่ 6 ธ.ค.61 นายจีรเดชเป็นสมาชิกพรรคประชาชาติและพรรคเพื่อแผ่นดิน นายจีรเดช จึงไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ตามรฐธรรมนูญมาตรา 97(3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 41(3) ดังนั้นที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ฯ ไม่ประกาศรายชื่อนายจีรเดชเป็นผู้สมัครส.ส.เขต 12 นครราชสีมา จึงชอบแล้ว