'ธนาธร'ปราศรัยมหาชัยเปิดนโยบายประมงทหารห้ามจุ้น!
การเมือง
นายธนาธร กล่าวว่า จ.สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และรายได้ที่ตกต่ำเช่นเดียวกับทุกที่ทั่วประเทศ สมุทรสาครที่เป็นเมืองการประมง ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการให้ใบเหลืองของไอยูยูที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกอาหารทะเลได้ จนกระทั่งเพิ่งได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี การแก้ไขวิกฤติของรัฐบาล คสช. ที่เร่งผ่าน พ.ร.บ.ประมงฯ มาจากการกดดันของกลุ่มทุนผูกขาดที่ส่งออกทูน่ากระป๋อง และการออกกฎหมายภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีฝ่ายค้าน จนก่อให้เกิดการบังคับใช้มาตรการที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งๆ ที่หลักการของไอยูยูไม่มีอะไรเสียหายที่จะรับหลักการ แต่ที่เสียหายก็คือการบังคับใช้กติกาของไอยูยูแบบสุดโต่งโดยไม่ฟังเสียงของพี่น้องชาวประมง และไม่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้ชาวประมงได้ปรับตัว ส่งให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา ยอดการจับสัตว์น้ำลดลงกว่าแสนล้านบาท กระทบไปจนถึงธุรกิจห้องเย็นและขนส่งสินค้า เพียงเพราะรัฐบาลต้องการเอาใจกลุ่มทุนที่ผูกขาดการส่งออกสินค้าประมงเท่านั้นเอง
"ในความเป็นจริงแล้ว การประมงต้องเป็นเรื่องของพลเรือน แต่ที่ผ่านมาเราใช้กองทัพมาจัดการควบคุมการประมงไทย เพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีการบังคับโทษที่สูงเกินไป เพราะว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่สนใจที่จะฟังเสียงของประชาชนในการออกกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ชาวประมง และจากการที่ผมไปพบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวประมงทั่วประเทศ ได้กลั่นออกมาเป็นนโยบายการประมงของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเอางาน เอารายได้กลับมาให้พี่น้องชาวประมง และที่สำคัญ ยังคงต้องสอดคล้องกับหลักการของไอยูยูที่ต้องการรักษาสมดุลทางทะเลและการรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า นโยบายการประมงของพรรคอนาคตใหม่ มี 3 หลักการ ประกอบไปด้วย 1.การประมงเป็นเรื่องของพลเรือน ต้องเอาทหารออกจากการจัดการปัญหาประมง 2.กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ต้องถูกพิจารณาใหม่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สอดคล้องกับทั้งความต้องการของชาวประมงและกติกาของไอยูยูเพื่อให้ทุกส่วนสามารถปฏิบัติได้ โดยที่ยังต้องรักษากติกาที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้ และ 3.การรื้อคดีที่เกี่ยวข้องกับการประมงในรอบหลายปีที่ผ่านมากลับมาพิจารณาใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวประมง ซึ่งต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวประมง ทำให้บทลงโทษสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงของชาวประมง และเยียวยาให้กรณีที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย