ข่าวจ่อบุกสตช.26ก.พ.ร้องเอาดื่มสุราในวัดผิดก.ม. - kachon.com

จ่อบุกสตช.26ก.พ.ร้องเอาดื่มสุราในวัดผิดก.ม.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแก๊งวัยรุ่นเมาบุกเข้าทำร้ายครู นักเรียน และผอ.โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ระหว่างสอบแกตแพต (GAT/PAT) หลังถูกโรงเรียนแจ้งเตือนให้ลดเสียงจากการจัดงานบวชเสียงดัง ว่า โดยหลักการการดื่มน้ำเมาในวัดเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ถามว่างานบุญงานบวชจัดขึ้นเพื่ออะไร การมาดื่มเหล้าก็ผิดศีลข้อ 5 ใช่หรือไม่ จริงๆ ชาวพุทธน่าจะตระหนักในเรื่องนี้ ควรทำให้วัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรเป็นเขตปลอดเหล้า ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 31กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้พิจารณาฐานความผิดดังกล่าว
 
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า จริงๆ พระในวัดก็คงไม่อยากให้ใครมาดื่มและสร้างปัญหาในวัด แต่ก็อยู่ที่การกำกับดูแลด้วย ดังนั้นก็ต้องพูดถึงกรรมการวัด ซึ่งก็คือชุมชุน ที่ต้องช่วยกันทำมาตรการนี้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ถ้าชุมชนเอาจริงอาจศักดิ์สิทธิ์กว่า เพราะหลายพื้นที่แม้ไม่มีกฎหมายยังทำได้ เช่น งานศพปลอดเหล้า กฎหมายไม่ได้ห้ามแต่เป็นข้อตกลงในชุมชน ซึ่งเขารู้ว่างานที่มีเหล้าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และสร้างปัญหาตามมา ทั้งทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ และเจ้าภาพของคิดดูว่าหากคนมาเมาจากงานเราแล้วออกไปเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต เจ้าภาพอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ ในงานมงคลแทนที่จะได้บุญกลับได้บาปแทน
 
ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า งานบุญที่ต้องมีสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นค่านิยมที่ความขัดหลักศาสนาทั้งศีล 5 และกฎหมายที่ห้ามดื่มในวัด จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเอาค่านิยมนี้เข้ามาในงานบุญ งานบวช เพราะการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มโอกาสเกิดเหตุร้ายหลายอย่าง ยิ่งมีการรวมตัวของวัยรุ่น ยิ่งมีความคึกคะนอง และมีการเร้าอารมณ์ด้วยเสียงเพลง และมีจุดที่ทำให้จี้กับจุดเดือดอารมณ์บางอย่าง ทำให้สามารถกระทำอะไรเหนือความคาดหมายได้ ทั้งนี้ การเอาผิดตามกฎหมายขณะนี้ยังมุ่งเน้นและเพิ่มโทษไปที่การเมาแล้วก่ออุบัติเหตุทางจราจร แต่เรื่องอื่นๆ ยังไม่มี ส่วนตัวมองว่าควรเพิ่มบทลงโทษการเมาแล้วไปก่ออาชญากรรมให้แตกต่างจากเดิม.