ข่าว'อนุทิน'มาแรงพุ่งอันดับ1 ประชาชนชี้เหมาะนั่งนายกฯ - kachon.com

'อนุทิน'มาแรงพุ่งอันดับ1 ประชาชนชี้เหมาะนั่งนายกฯ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลโพล เรื่อง เกาะกระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,183 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้งบ่อย ๆ ในขณะที่ร้อยละ 24.1 ไม่บ่อย และร้อยละ 3.3 ไม่ติดตามเลย และเมื่อเปรียบเทียบความบ่อยในการติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง พบว่าประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 50.6 ติดตามบ่อย ๆ ในครั้งที่ 1 (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) มาอยู่ที่ ร้อยละ 72.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ที่น่าสนใจคือ กระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พบสัดส่วนของประชาชนที่ระบุกลุ่มคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอันดับที่ 1 ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย) เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ 1 ร้อยละ 31.9 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ ร้อยละ 53.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุด คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 รองลงมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 คือจาก ร้อยละ 37.5 ในการสำรวจช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ ร้อยละ 58.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ต่อมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 จาก ร้อยละ 35.5 มาอยู่ที่ร้อยละ  56.1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 จากร้อยละ 39.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ในขณะที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (เสรีรวมไทย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากร้อยละ 44.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.0 และที่น่าสังเกต คือการเปลี่ยนแปลงของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่) เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 44.8 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ร้อยละ 55.0 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลวิเคราะห์เกาะติดกระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบางคน และการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มแผ่วช่วงจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของบางคน โดยพบว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กำลังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สูงที่สุดโดยเกาะกลุ่มกันดังนี้คือ แคนดิเดตจาก พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ตามด้วย พรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย และ อนาคตใหม่