ข่าวปศุสัตว์บุกจับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนนครปฐมยึดซากสุกร31ตัว - kachon.com

ปศุสัตว์บุกจับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนนครปฐมยึดซากสุกร31ตัว
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายปศุสัตว์ โดย กองสารวัตรและกักกัน สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม สนธิกำลังตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมการสัตว์ทหารบก เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฆ่าสัตว์ ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวน 6 แห่ง ตามที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผลการตรวจค้นพบว่ามีการกระทำความผิด 4 ราย จึงได้จับกุมผู้กระทำความผิด ทั้ง 4 ราย พร้อมยึดของกลางเป็นซากสุกรชำแหละ​31 ตัวนำ้หนักประมาณ 3,100 กิโลกรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่า จำนวน 22 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 372,130 บาท เพื่อส่งดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว จังหวัดนครปฐม 

x

โดยแจ้งข้อกล่าวหา 1.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษตามมาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์โดยมิได้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า แหล่งที่มาของสัตว์ที่จะฆ่า วัน เวลาที่จะฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 60 ระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ดังต่อไปนี้ 1.โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกินห้าหมื่นบาท 2.แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท 3.ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกินหนึ่งพันบาท 4.สัตว์อื่น ตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท

การดำเนินการเข้าตรวจค้นจับกุมการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายครั้งนี้ เป็นนโยบายสำคัญของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ได้จากการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เนื้อสัตว์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคระบาดติดต่อไปยังผู้บริโภคได้ เช่น โรคหูดับ (streptococcus suis) โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (salmonellosis) โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้การไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ที่นำมาฆ่า อาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบากสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอหิวาต์แอฟริกันสุกร (African Swine Fever : ASF).