ข่าวสนช.ผ่านฉลุยก.ม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล - kachon.com

สนช.ผ่านฉลุยก.ม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัิติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ในมาตราที่เหลือที่ี่กรรมาธิการฯ ขอปรับแก้เนื้อหา ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา 

มาตรา 4 ซึ่งกรรมาธิการฯ ปรับแก้เป็น ไม่ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น กรรมาธิการฯ ยอมปรับแก้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสนช.ในวาระแรกคือ ครอบคลุมถึง 1.การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยประชาชน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือนิติวิทยาศาสตร์ และรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.บุคคลหรือนิติบุคคลที่รวบรวมข้อมูลไว้เพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพ  3.สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึง กรรมาธิการฯ 4.การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และ 5.ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิก ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ยังได้เพิ่มความด้วยว่า กรณียกเว้นรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ต้องกำหนดลักษณะกิจการ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลและหน่วยงาน กำหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

สำหรับมาตราอื่นที่ต้องปรับแก้หรือตัดออกเนื่องจากกรรมาธิการฯ ยอมกลับไปใช้มาตรา 4 ตามร่างเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความซำ้ซ้อนนั้น มาตรา 16 (8) หน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มความให้ทบทวนการตราพระราชกฏษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทุกๆ 5 ปี  ตัดมาตรา 21/1 ที่กรรมาธิการฯ เพิ่มขึ้นใหม่ คุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงออก มาตรา 26 เพิ่มถ้อยคำให้ความคุ้มครองบุคคลตามสภาพความพิการ ต่อการถูกรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงแค่เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อ ศาสนา ข้อมูลสุขภาพ และตัดหมวด 3/1 ที่กรรมาธิการฯ เพิ่มขึ้นใหม่ ว่าด้วยข้อจำกัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลออกทั้งหมด

เมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้นเนื้อหาที่ว่าด้วยการรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิการเข้าถึงข้อมูล การร้องเรียน การรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ ที่ต้องให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านระเบียบและการบริหารจัดการ ที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศใช้ร่างกฎหมายไปแล้ว 1 ปี

จากนั้นที่ประชุมสนช.จึงลงมติให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ....ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยเสียงเอกฉันท์ 161 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 5 เสียง.