ข่าว'วิษณุ'แนะยกคำวินิจฉัยศาลรธน.ปี43 ตีความสถานะคสช. - kachon.com

'วิษณุ'แนะยกคำวินิจฉัยศาลรธน.ปี43 ตีความสถานะคสช.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.  ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ยังมีข้อสงสัยต่อสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการช่วยพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้ง ว่า  คำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” มี 2 ความหมายที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ คือ 1.เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นความหมายทั่วไป 2.เจ้าหน้าที่รัฐในความหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 15  โดยคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐในความหมายทั่วไปนั้น นายกรัฐมนตรีถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตนบอกแล้วว่าตำแหน่งนายกฯเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 12  ตนไม่เคยพูดกลับไปกลับมา และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในความหมายของการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นข้าราชการเมือง แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 12 ระบุว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องไม่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ยกเว้นข้าราชการการเมือง ขณะที่ตำแหน่งนายกฯเป็นข้าราชการเมือง จึงทำให้มีข้อยกเว้นที่ว่าสามารถเสนอชื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ให้เป็นว่าที่นายกฯได้  

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า  แต่ปัญหาขั้นต่อไป คือรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 15 ที่ระบุว่าจะต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น ตำแหน่งหัวหน้าคสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามบทบัญญัตินี้หรือไม่  ทั้งนี้เคยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยไปก่อนว่ามีกรรมการของทางราชการ 20 ตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่เมื่อมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลฯได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ว่าคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 15 ไม่ได้หมายความถึงเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไปทั้งหลาย เพราะอยู่ในบทบัญญัติวงเล็บอื่นๆแล้ว โดยถ้าเป็นข้าราชการ จะถูกห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วงเล็บ 12  ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่สภาท้องถิ่น ก็ถูกห้ามตามวงเล็บ 13 หรือถ้าเป็นสมาชิกสภา ถูกห้ามตามวงเล็บ 14

ดังนั้นอะไรที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามวงเล็บ 15 ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่าบุคคลที่เป็นกรรมการ 20 ชุดดังกล่าวมีการทำงานร่วมกันในลักษณะกรรมการ โดยไม่ใช่การใช้อำนาจโดยลำพังเหมือนกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ จึงถือว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเฉพาะตามมาตรา 98 วงเล็บ 15 ซึ่งกรณีของ คสช.ไม่เคยถูกนำมาเทียบ แต่ถ้าจะตัดสิน ก็คงจะนำมาเทียบได้กับลักษณะของกรรมการ 20 ชุดข้างต้น โดยใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2543 มาเป็นหลัก ซึ่งตนตอบตามนี้ และไม่เคยตอบกลับไปกลับมา

“นายกฯเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแล้วจะเป็นอะไร แต่การที่รับเสนอชื่อเป็นนายกฯได้ เพราะได้รับการยกเว้นเนื่องจากเป็นข้าราชการการเมือง คสช.ไม่ใช่ข้าราชการเมือง จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง และไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มาติดที่วงเล็บ 15 คราวนี้สุดแล้วแต่จะแปลวินิจฉัย ถ้าใครสงสัย ก็ส่งให้กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนผมจะตอบถูกหรือผิด ก็ไม่แปลก แต่ไม่สามารถถือเป็นคำวินิจฉัย”นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าการที่กกต.บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์สามารถขึ้นปราศรัยได้นั้น แสดงว่าต้องทำได้เฉพาะเวลานอกราชการใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า  ตนได้ยินแค่ว่าผู้ถามคือพรรคพลังประชารัฐ ส่วนคำตอบของกกต. ตนเห็นแค่ที่ลงในสื่อว่าให้ดำเนินการเหมือนกับคนอื่นได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ใช้เวลาราชการ และต้องระวังเนื้อหาสาระ ซึ่งตรงนี้ถือว่าถูกต้อง  และที่สำคัญ มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง โดยนายกฯเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตนขอย้ำตรงนี้ โดยไม่ต้องเอาเรื่องคสช.มาพูด ดังนั้นนายกฯต้องระมัดระวังเรื่องความเป็นกลาง คือต้องไม่ใช้ตำแหน่งของตัวเองไปทำให้ใครได้หรือเสียประโยชน์ ดังนั้นต้องระวังเรื่องคำพูดและการใช้เวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าไปช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับพรรค จะทำได้หรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า  ตนไม่ลงรายละเอียดตอบว่าถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้  เมื่อเขาถามอะไรไป แล้วกกต.ตอบว่าทำได้ แต่ให้ดูข้อกฎหมายมาตรา 72 มาตรา 73 มาตรา 78 แต่ตนไม่มีหน้าที่ให้คำแนะนำพรรคการเมือง ใช้คำว่าระวังเอาเองก็แล้วกัน และต้องพูดให้เป็น

เมื่อถามว่าถ้านายกฯลงพื้นที่จากนี้ไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวนายกฯยังสามารถทำหน้าที่ดูแลนายกฯได้หรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า  ตนเห็นว่าทำได้ เพราะวิธีปฏิบัติกับกรณีนายกฯหรือรัฐมนตรีในอดีต เขาก็ใช้ทีมนั้นได้ โดยที่ผ่านมา เขายอมให้กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งต้องคุ้มกันนายกฯตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องติดตัวอยู่ แม้ไม่มีกฎหมายระบุ ส่วนจะใช้ทีมไหน เจ้าหน้าที่นอกหรือในเครื่องแบบ ก็แล้วแต่  แต่ห้ามนำเลขาธิการนายกฯหรือเลขานุการรัฐมนตรีไปด้วย เพราะถือว่าไม่ได้ทำงานกับนายกฯ หลังเวลาราชการอยู่แล้ว.