ข่าวเว็บทำเนียบแจง 'พ.ร.บ.ไซเบอร์' ดูความมั่นคง-ป้องอาชญากรโจมตี - kachon.com

เว็บทำเนียบแจง 'พ.ร.บ.ไซเบอร์' ดูความมั่นคง-ป้องอาชญากรโจมตี
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th โดยชี้แจงถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2561 ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล โดยยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเฝ้าดูข้อมูลของประชาชนทั่วไป โดยเนื้อหามีใจความระบุว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2561 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัยในระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของประเทศ โดยป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคาม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ และไม่เกี่ยวกับการเฝ้าดูข้อมูลของประชาชนทั่วไป
 
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังควบคุมภัยคุกคามทางไซเบอร์  3 ระดับ คือ ระดับไม่ร้ายแรง ระดับร้ายแรง และระดับวิกฤติ และยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อกำกับดูแลให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น มัลแวร์ ไวรัส จึงไม่ไปคุกคามหรือกระทบสิทธิของบุคคล ส่วนที่มีการระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการทํางานนั้นไม่เป็นความจริง เจ้าหน้าที่จะเฝ้าดูการทำงานของระบบไม่ให้ผิดปกติเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ต้องขออำนาจจากศาล และใช้อำนาจยึด – ค้น – เจาะ - ทำสําเนา กับอาชญากรที่โจมตีระบบสาธารณูปโภคจนล่ม ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป
 
ขณะที่การสอดส่องข้อมูลได้แบบ Real-time นั้น เจ้าหน้าที่จะใช้อํานาจตามคําสั่งศาลเฉพาะกับผู้กระทําผิด ถ้ามีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทําให้ระบบล่มเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ภัยคุกคามไซเบอร์ทุกระดับ ต้องขอหมายศาลทุกกรณี ยกเว้นระดับวิกฤติที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้นที่ทำได้ แต่ต้องแจ้งศาลโดยเร็ว และหากเจ้าหน้าที่รัฐไปเปิดเผยข้อมูลที่ได้มา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนก็จะมีโทษจําคุก

สำหรับข้อดีของพ.ร.บ.ไซเบอร์ จะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมีแนวทางรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ ไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และหากเกิดปัญหาก็สามารถกลับมาดำเนินการตามปกติได้อย่างรวดเร็ว และมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ และให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
 
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ขณะนี้รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี โดยในระหว่างนี้จะมีกฎหมายลูกออกมารองรับอีกหลายฉบับ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แนวทางการปฏิบัติขิองหน่วยงานต่าง ๆ แนวทางการรายงานข้อมูล ฯลฯ ซึ่งจะมีความชัดเจน และช่วยลดความกังวลของประชาชน
 
อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/19104