กรมป่าไม้แบล็คลิสต์ชุมชนบุกรุกป่า-จุดไฟเผาป่า
การเมือง
นายอรรถพล กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้จัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2559 - 2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102,156,350.51 ไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ จึงทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้ปี 2580 ต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ยังดำเนินการทวงคืนผืนป่า ซึ่งคาดว่ามีนายทุนบุกรุกกว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการทวงคืนมาแล้วกว่า 7.5 แสนไร่
ด้านนายวีระภาส กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพป่าไม้ที่แม่นยำ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมป่าไม้ได้ดำเนินโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2556 - 2561 เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดการป่าไม้ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อการติดตามและการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เรายังสามารถจำแนกเป็นชนิดป่าได้อีกด้วย อาทิ ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าที่ฟื้นฟูตามธรรมชาติ สวนป่า เป็นต้น โดยใช้จุดตรวจสอบภาคสนาม 741 จุดกระจายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพบว่าป่าเบญจพรรณ มีมากที่สุดถึงร้อยละ 14.59 ของชนิดป่าทั้งหมด
“โดยในปี 2560 -2561 เป็นครั้งแรกที่ได้นำข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ซึ่งมีความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร มาใช้เป็นหลักในการจัดทำข้อมูล เป็นภาพดาวเทียมที่มีความละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่มีการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมในภารกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย ส่วนภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ ในปี 2560 มีพื้นที่ป่า 102,156,350.51 ไร่ และล่าสุดในปี 2561 มีพื้นที่ป่า 102,488,302.19 ไร่ พบว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่ ถึงแม้ภาพรวมจะพบว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่มีป่าไม้ลดลง จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการกำหนดนโยบายหาแนวทางจัดการต่อไป” หัวหน้าโครงการ กล่าว
ขณะที่นางอำนวยพร กล่าวว่า พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนไร่ เทียบได้กับพื้นที่จ.ภูเก็ต ซึ่งนับว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ยึดคืนพื้นที่ป่าจากนายทุน ซึ่งนอกจากจะทวงคืนผืนป่าแล้ว กรมป่าไม้ยังดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า และดำเนินการป่าชุมชนเพื่อให้ราษฎรช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าต่อไป ส่วนจังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้มี 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง และอยุธยา เนื่องจากมีแต่พื้นที่ชุมชน ซึ่งทางจังหวัดต้องหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ โดยตามคำนิยามว่าพื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้ดาวเทียมสามารถจับข้อมูลได้ ต้องมีพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน 3.125 ไร่
เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์เขาหัวโล้นดีขึ้นหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ชาวบ้านเริ่มจัดโซนนิ่งกันเอง และไม่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพราะอยากให้กรมป่าไม้รับรองสิทธิทำกินอย่างถูกต้อง ชาวบ้านจึงไม่ทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเขาหัวโล้นจะค่อยๆ หมดไป และขณะนี้ได้จัดทำแบล็คลิสต์ชุมชนที่บุกรุกป่า และก่อจุดความร้อน ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่าเพื่อดำเนินกฎหมายอย่างเด็ดขาด
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้บุกรุก 10 อันดับ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน ลดลง 40,671.59 ไร่ พบลดลงมากในอ.แม่ลาน้อย จ.กาญจนบุรี 25,499.01 ไร่ พบลดลงมากในอ.ไทรโยค และทองผาภูมิ จ.เชียงราย 16,445.66 ไร่ พบลดลงมากในอ.เชียงของ จ.อุบลราชธานี ลดลง 13,115.78 ไร่ ยโสธร 10,736.47 ไร่ อำนาจเจริญ 8,630.89 ไร่ เชียงใหม่ 8,406.10 ไร่ น่าน 4,799.53 ไร่ มุกดาหาร 4,390.87 ไร่ และจ.ยะลา 2,309.09 ไร่
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 10 อันดับ ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ เพิ่ม 62,394.96 ไร่ ชัยภูมิ 56,100.06 ไร่ พังงา 35,045.66 ไร่ นครราชสีมา 30,096.33 ไร่ พิษณุโลก 26,600.28 ไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 23,655.14 ไร่ กระบี่ 19,565.90 ไร่ ขอนแก่น 18,751.20 ไร่ ลำปาง 14,877.03 ไร่ และจ.ลำพูน 13,505.30 ไร่.