รมว.กษ.ปักหมุดแผนปฏิบัติการ 'วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่'
การเมือง
หลักการทำงานที่สำคัญคือ ในระดับกระทรวงฯ ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านกลุ่มสานพลังประชารัฐ คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D.6) เพื่อขอให้ช่วยเหลือด้านบทบาทกระบวนการผลิตและการตลาด โดยจัดทำรายละเอียดข้อเสนอรูปแบบการลงทุนร่วม การจับคู่ธุรกิจ หรือดำเนินธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ต้องฝึกอบรมแนวทางบริหารจัดการแก่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด และให้คณะอนุกรรมกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อพก. จ.) วางระบบบริหารโครงการในพื้นที่ ดำเนินการผลิตพืชเศรษฐกิจ ตามโควตาเกษตรกรรมชองประเทศ ที่มีตลาดชัดเจน
นายกฤษฏากล่าวว่า ตามการแบ่งพื้นที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแบ่งพื้นที่พัฒนาประเทศเป็น 6 ภูมิภาค จึงสั่งการให้สรรหาและคัดเลือกภาคละอย่างน้อย 1 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่ติดกันขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดในการผลิตต่อขนาดพื้นที่ลงทุน (Economy of Scale) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง จากนั้นศึกษาความเหมาะสมทั้งด้านกฎหมายที่ดิน สำรวจสภาพดินและน้ำ ความเหมาะสมด้านด้านการตลาดและการผลิต ชี้ชวนเกษตรกรเจ้าของที่ดินเข้าร่วมโครงการ รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นนิติบุคคลองค์กรเกษตรกร แล้วขออนุมัติจัดตั้งวิสาหกิจแปลงใหญ่ โดยคัดเลือกเกษตรกรเจ้าของที่ดิน หรือบุตรหลานทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวิสาหกิจการเกษตรแปลงใหญ่ อีกทั้งประสานงานกับภาคเอกชนมาจัดหลักสูตรอบรม โดยเน้นวิธีการจัดการสมัยใหม่แบบเกษตรแม่นยำหรือแบบประณีต (Precision Agriculture) เพื่อให้ทั้งผู้จัดการแปลงและสมาชิกเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Famer – Young Smart Famer)
นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันและอนาคตนั้น แนวโน้มของตลาดจะต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น จึงให้พิจารณาเลือกวิธีการทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เกษตรอินทรีย์ (Organic) การทำเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่และคุณภาพดินตามแผนที่จัดการด้านเกษตรกรรม (Agri-Map) ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรม ที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่การทำเกษตรชนิดใหม่ที่ลงทุนน้อย ให้ผลตอบแทนสูง นำความรู้ทางเทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องมือและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อทดแทนการใช้แรงงาน ผลผลิตที่ได้ต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งผลิต กระบวนการผลิตถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ละเมิดกติกาสากล โดยต้องเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
จากนั้นในเดือนมิถุนายนให้ผู้จัดการแปลงเริ่มเตรียมพื้นที่ จัดหาปัจจัยการผลิต วางแผนบริหารจัดการแปลง ควบคุมการผลิต จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ตลอดจนแผนการรวบรวมผลผลิตขายให้เอกชนหรือนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรแปลงใหญ่ หรือประสานให้ภาคเอกชนมาตั้งโรงงานแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร หรือเปิดเป็นโรงรวบรวมผลผลิต เพื่อติดต่อหาตลาดส่งขายเองหรือขายในตลาด E-Commerce รวมถึงวางระบบการเงินและบัญชีแบบ E-payment ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม 62
“แผนปฏิบัติการโครงการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนนั้นกำหนดจนถึงเดือนมีนาคม 63 เนื่องจากต้องติดตามและประเมินผลทุกขั้นตอน โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร (สศก.) รวบรวมข้อมูลทั้งผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต ความเหมาะสมในการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ของพืช/ปศุสัตว์/สัตว์น้ำพร้อมระบุสายพันธุ์ และข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรสมาชิกธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ทุกคน และทุกครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ ว่ามีรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร ปลดหนี้สิ้นได้ พร้อมขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” นายกฤษฎา กล่าว