'ทองเปลว'สั่งชลประทานทั่วประเทศรับมือภัยแล้ง
การเมือง
นอกจากนี้ให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ จัดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน จัดเตรียมและกระจายเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้ทั่วถึง พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การรายงานสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการสื่อสารผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เพื่อให้ข่าวสารเรื่องน้ำเผยแพร่ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้ทำการสำรวจพื้นที่ หรือสำรวจหาตาน้ำที่ยังมีน้ำไหลออกมาพอสมควร เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้อีกทางหนึ่งด้วย
“กรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันในขณะนั้น ประมาณ 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)(เป็นปริมาณน้ำจากในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ ทั้งประเทศ) ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 61/62 รวมกันประมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(4 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน ประมาณ30ล้านไร่”นายทองเปลว กล่าว
สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ(แผนฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 61/62 วางไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 – เม.ย. 62) คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 61/62 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.87 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 (แผนวางไว้ 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.52 ล้านไร่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง(นารอบที่ 3)ต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอ.