ทร.ลงนาม MOUการวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร
การเมือง
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 มี.ค.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มอบหมายให้ พล.ร.ต.วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นผู้แทน ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ กับ บริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมอาหารสำหรับสถานการณ์วิกฤต ณ ห้องเกียรตินาวี ชั้น 3 ราชนาวีสโมสร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานและนักวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเชิงบูรณาการ ในการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารของประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านอาหารสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารและการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติการทางทหาร เสบียงอาหารนับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง ที่จะช่วยดำรงขีดความสามารถของกำลังรบให้ปฏิบัติภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทางยุทธวิธี การปฏิบัติการการรบและการปฏิบัติการทางทหารที่นอกเหนือจากการรบ (Military Operation Other Than War ; MOOTWAR) ซึ่งหมายรวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย หรือ Humanitarian Assistance / Disaster Relief ; HA/DR เนื่องจากการบริโภคอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และให้พลังงานกับสารอาหารอย่างครบถ้วนจะช่วยทำให้ร่างกายของกำลังพลมีพละกำลังในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งช่วยลดความสูญเสียต่าง ๆ อันอาจจะเกิดขึ้น หลายประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและภารกิจต่าง ๆ ทั้งทางการทหาร การดำรงชีวิต หรือแม้แต่ด้านการกีฬา เช่น นวัตกรรมอาหารที่สามารถกำหนดระยะเวลาของการปลดปล่อยพลังงานตามระยะเวลาที่ต้องการ อาหารให้พลังงานแบบเร่งด่วนในภารกิจเข้าปะทะ/จู่โจม อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการสารอาหารเป็นพิเศษ หรือนักกีฬาที่ต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งอาหารที่มีขนาดเล็กน้ำหนักเบาแบบพกพาใส่กระเป๋า สำหรับภารกิจระยะสั้น เช่น ภารกิจแทรกซึม หาข่าว รวมถึงการนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยและประชาชนในยามเกิดสถานการณ์วิกฤตได้ การพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารถือได้ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนจะต้องส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S – Curve ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม จะสามารถยกระดับความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศในอนาคตได้.