ข่าวโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง!ปชช.เมินนโยบายแจกเงิน - kachon.com

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง!ปชช.เมินนโยบายแจกเงิน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่พิพิธภัณฑ์สถาบันพระปกเกล้า ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกันแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ จำนวน 1,540 คนเรื่อง "ปัจจัยในการเลือกผู้สมัคร/คุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีที่พึงประสงค์และความมุ่งมั่นในการเลือกตั้ง" สำรวจระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค. 

โดยศ.วุฒิสาร กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตคือความซื่อสัตย์ มีคุณธรรมร้อยละ 99.1 มีวิสัยทัศน์และความคิดก้าวหน้า ร้อยละ 99 มีความสามารถในการแก้ไขพื้นที่ ร้อยละ 96.5 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร้อยละ 92.7 และ สามารถนำเงินพัฒนาใจพื้นที่ ร้อยละ 91.5 ที่น่าสนใจคือปัจจัยที่ประชาชนให้ความสนใจน้อยที่สุดคือ1.การให้เงินแทบไม่มีความหมายสะท้อนว่าประชาชนไม่ได้สนใจข้อเสนอ สิ่งแลกเปลี่ยน 2.เรื่องเพศ และ 3. บุคลิก หน้าตา

ศ.วุฒิสาร กล่าวต่อว่า ส่วนปัจจัยในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง คือนโยบายพรรค ร้อยละ 96.5 หัวหน้าพรรค/ผู้นำพรรค ร้อยละ 95.1 แนวทางการดำเนินการทางการเมือง ร้อยละ 95 และอุดมการณ์/เจตนารมณ์ของพรรคร้อยละ 92.8 ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจน้อยคือ 1.การเป็นบุคคลที่เคารพ/คนรู้จัก/เพื่อนแนะนำ 2.ครอบครัวเคยเลือกพรรคนี้ และ 3.ความเป็นไปได้ที่พรรคจะชนะ 

เมื่อถามถึงคุณลักษณะสำคัญของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตคือมีความโปร่งใส มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เท่ากันที่ ร้อยละ 99.6 เป็นผู้มีความอุทิศตนและเสียสละร้อยละ 99.3 มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ร้อยละ 99.1 และมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร ร้อยละ 99.1 ส่วนปัจจัยที่มีผลน้อยคือ 1.มีวาทศิลป์ในการสื่อสาร 2.มีประสบการณ์ทางการเมือง และ 3.ความสามารถในการสื่อสารกับต่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อนำทั้งปัจจัยของตัวผู้สมัครในเขต รายชื่อนายกที่พรรคเสนอ  และพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด พบว่าประชาชนยังใช้ตัวผู้สมัครเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ร้อยละ 43.5 พรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดร้อยละ 36.8 และรายชื่อนายกฯ ที่พรรคเสนอร้อยละ 19.7 อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจไม่ได้ถามต่อว่าหากต้องการเลือกผู้สมัครหนึ่ง แต่พ่วงด้วยการต้องได้นายกฯ เป็นบุคคลคนนี้จะยังตัดสินใจเลือกหรือไม่

"การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เป็นที่น่าสังเกตว่าใจการสำรวจ 3 ครั้งที่ผ่านมาพบว่าเกณฑ์การตัดสินใจของประชาชนจะให้ความสนใจที่นโยบายพรรคเป็นหลัก แต่ครั้งที่ 4 ซึ่งใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมากๆ พบว่าประชาชนหันมาให้ความสนใจที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ขณะเดียวกันพบว่าผู้ตั้งใจออกมาเลือกตั้งสูงขึ้นถึงร้อยละ 96 แถมยังมั่นใจด้วยว่า 1 เสียงของตัวเองจะสามนรถสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ดังนั้นหากการสำรวจครั้งนี้เป็นจริง การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้ก็จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง" ศ.วุฒิสาร กล่าว.