'ปริญญา'คาดหลังเลือกตั้ง ปชช.อาจเรียกร้องส.ว.ฟรีโหวต
การเมือง
โดยนายปริญญา กล่าวถึงสมมติฐาน การคาดการณ์ และการวิจัยการเลือกตั้ง 2562 ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนพรรค และผู้สมัครสส.มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็คาดการณ์ว่าไม่มีพรรคใดได้ส.ส.ถึงครึ่ง หรือเกิน 250 คน เพราะพรรคใหญ่เกิดการแตกตัว เกิดการแบ่งคะแนนกัน อย่างไรก็ตามตนยังคงมองว่าจะเกิดการเมือง 3 ก๊ก คือ1.เพื่อไทยรวมกับพลังประชารัฐ ซึ่งดูคล้ายจะเป็นไปไม่ได้ 2. พลังประชารัฐรวมกับประชาธิปัตย์ ยังมีความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าพลังประชารัฐต้องมีคะแนนมาเป็นที่ 1 และ3. เพื่อไทยรวมกับประชาธิปัตย์ ส่วนเรื่องงูเห่านั้น หรือส.ส.ที่ไปยกมือโหวตให้ฝ่ายตรงข้ามนั้น หรือโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกนั้น อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถหาพรรคใหม่อยู่ได้ใน 60 วันทำให้สส.เป็นอิสระจากพรรคการเมือง แต่คิดว่าพรรคการเมืองคงไม่กล้าขับงูเห่าออกจากพรรค เพราะถ้าขับออกก็จะเกิดการย้ายไปอยู่ฝั่งพปชร.
นายปริญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากกว่าคือคุณสมบัติท่านนายกฯ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตีความว่าตำแหน่งหัวหน้าคสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งมองว่าตำแหน่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เพราะมาจากการยึดอำนาจ แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตีความว่าเป็นข้าราชการการเมืองจึงได้รับการยกเว้นคุณสมบัติต้องห้าม ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีการตีความว่าหัวหน้าคสช.เป็นข้าราชการการเมืองหรือไม่ คำอธิบายต้องเยอะว่าทำไมหัวหน้าคสช.ถึงเป็นข้าราชการการเมือง เพราะข้าราชการการเมืองคืออยู่โดยมีวาระ โดยที่มีการเลือกตั้ง อีกวิธีหนึ่งก็ต้องวินิจฉัยว่าหัวหน้าคสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องอธิบายอีกเช่นกันว่าเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือนประจำ มีอำนาจตามมาตรา 44 ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เป็นที่สุด ศาลต้องตรวจสอบว่าอำนาจที่มากขนาดนี้จะไม่นับว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไร ทั้ง 2 แนวทางมีปัญหาทั้งสิ้น แต่อยู่ที่การอธิบายเหตุผล คนตรวจสอบก่อนเลือกตั้งคือกกต. แต่มีการตรวจสอบภายหลังอำนาจอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงกรณีตัดสินว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติจะมีผลกระทบกับการเลือกตั้งหรือไม่นั้น นายปริญญา กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ผลกระทบจริงๆ คือการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคมากกว่า
นายปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับที่ยังไม่มีใครทราบรายชื่อกรรมการสรรหาสว.นั้น จริงๆ ต้องยึดหลักการโปร่งใส มีการเปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องดีหากคสช.ไม่บอกประชาชนให้ทราบ ยิ่งทำให้สงสัย และตั้งคำถามหนักกว่าเดิมว่าทำไมถึงบอกไม่ได้ ถ้าบอกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตรงไปตรงมา เรื่องนี้เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ของคสช.ในการตั้งใครก็ได้ ในเมื่อนายกฯก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนประชามติมา ดังนั้นต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องของความโปร่งใส หลักนิติรัฐนิติธรรมทั้งหลาย ชื่อกรรมการสรรหาคนซึ่งจะเป็นตัวแทนปวงชนและเลือกนายกร่วมกับสส. เป็นใครบ้าง อย่างไรก็ตาม คิดว่าเมื่อเริ่มเปิดประชุมสภาผู้แทน มีเลือกนายกฯ กระแสตอนนั้นสำหรับคนที่เพิ่งเลือกตั้งเสร็จอาจจะอยากเห็นสว.ฟรีโหวตก็ได้ ดังนั้นการเมืองตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ลำพังเสียง ส.ว.ก็ไม่ใช่จุดที่จะบอกได้ว่า คสช.จะเป็นรัฐบาลแน่นอน อยู่ที่ประชาชนตัดสิน และโอกาสของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ที่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมาเป็นที่ 1 หนึ่งหรือไม่.