ข่าวจิตแพทย์วอนงดฟันธงคนฆ่าตัวตาย หยุดแข่งเปิดหน้า - kachon.com

จิตแพทย์วอนงดฟันธงคนฆ่าตัวตาย หยุดแข่งเปิดหน้า
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายว่า  การเสนอข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่ออาจมีกผลกระทบให้เกิดการเลียนแบบวิธีการได้ (Copy Cat) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาชีวิตคล้ายกับผู้ก่อเหตุ ดังนั้นในการนำเสนอข่าวจึงไม่ควรสรุปเพียงสาเหตุเดียว เนื่องด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนในแต่ละคนและมักมีหลายๆ เรื่องประกอบกัน เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว เป็นต้น หากยังนำเสนอเพียงสาเหตุเดียวจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาแบบเดียวกันเกิดการเลียนแบบเนื่องจากคิดว่าการจบชีวิตเป็นทางออกของปัญหา นอกจากนี้ ไม่ควรนำเสนอภาพ และวิธีการฆ่าตัวตายของผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดเนื่องจากจะไปกระตุ้นในกลุ่มเปราะบางข้างต้นจนเกิดการเลียนแบบวิธีการดังกล่าวได้ สิ่งที่ควรทำคือแนะนำ แหล่งการให้บริการทั้งระบบบริการสาธารณสุข สายด่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐหรือเอกชน เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่าตัวตาย เกือบ 40,000 ราย โดยตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 340 ราย ต่อเดือน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 4 เท่า ทั้งนี้เมื่อคิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตายเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10-12 ต่อแสนประชากร ส่วนไทยอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ระดับกลางที่ประมาณ 6.2-6.3 ต่อแสนประชากร แม้จะไม่เยอะแต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะยังไม่สามารถลดการฆ่าตัวตายลงได้ ทั้งที่เราอยากลดลงให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งคงต้องมีการศึกษาวิจัย เพื่อให้การพยากรณ์โรคมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจัยของการฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุ และมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่อาจมีโรคทางจิตเวชที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือควบคุมอาการไม่ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ ซึ่งโรคทางอารมณ์ทำให้ความเสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น 20 เท่าเทียบกับในคนทั่วไป ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคทางกายเรื้อรัง การติดการพนัน ปัญหาด้านเศรษฐสถานะ เป็นต้น ขณะที่การทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หุนหันพลันแล่น ก็พบได้บ่อยเช่นกัน

นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ แต่การแข่งขันการนำเสนอข่าว มีการเปิดเผยใบหน้าของผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องที่กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงมาก เพราะมีผลกระทบกับคนรอบข้างของผู้เสียชีวิต ที่นอกจากจะเจอกับความสูญเสียญาติแล้ว ยังสูญเสียซ้ำจากการนำเสนอข่าวตามมาอีก ดังนั้นจึงอยากฝากเรื่องการนำเสนอข่าวเพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย โดยเสนอเป็นภาพกว้างๆ ของเหตุการณ์เท่านั้น โดยเน้นแนวทางการรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้าง และเพิ่มการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยลง และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้นแทน ทั้งนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศแทบจะไม่ค่อยเสนอข่าวการฆ่าตัวตายมากนัก หากเป็นบุคคลสำคัญก็จะนำเสนอในแง่ของคุณความดี การสูญเสียบุคลากรของประเทศ เสนอแนวทางการรับมือของครอบครัว แนวทางการเยียวยาบุคคลรอบข้าง เป็นต้น.