ข่าวปศ.จัดหน่วยพิเศษเข้มลักลอบนำเข้าซากสัตว์ตามแนวชายแดน - kachon.com

ปศ.จัดหน่วยพิเศษเข้มลักลอบนำเข้าซากสัตว์ตามแนวชายแดน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีปล่อยแถวเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษกว่า 100 นาย เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ – ซากสัตว์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดสัตว์ชนิดอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever : ASF) พร้อมด้วยปศุสัตว์เขต 1 ปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ เลขานุการกรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง



โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นโรคระบาดสำคัญที่เกิดกับสุกร ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ตัวเชื้อทนต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ หากสุกรติดโรคแล้วจะมีอัตราการป่วยและการตายสูง ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน พบการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจการเลี้ยงสุกรของจีนอย่างมหาศาล ล่าสุดมีรายงานการเกิดโรคที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผลิตจากประเทศเวียดนามโดยผ่านประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดนครพนม จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมกับด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่ เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศลาว ได้แก่ เลย นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และอุบลราชธานี ปฏิบัติงานลาดตระเวน ตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ บริเวณจุดผ่านแดนถาวร (ท่าเรือ สะพานมิตรภาพ รถไฟ) จุดผ่านแดนชั่วคราว และช่องทางธรรมชาติ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายและการค้าสัตว์ - ซากสัตว์ตามตลาดในพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทย – ลาว



กรมปศุสัตว์มีความตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร โดยได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้น ซึ่งการตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ จากต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรและภาคธุรกิจการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย หากต้องการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ ติดต่อกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ โทรศัพท์ 025013473-5