สทนช.เผยแล้งนี้น้ำขาดน้ำกินใช้7จว.
การเมือง
“จากนี้ไปคือช่วง มี.ค.- เม.ย. จนกระทั่งกลางเดือน พ.ค.จะไม่มีฝนหรือหากมีฝนก็จะตกเพียงเล็กน้อยกระจายเป็นหย่อมๆ ในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. หลังจากนั้นไปจะไม่มีฝนแล้ว ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการส่งน้ำเพื่อการเกษตรที่จะต้องพึ่งพาแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าฝนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือประมาณสัปดาห์ที่ 3 ช่วงวันที่ 20 – 25 พ.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝนจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยกระแสข่าวลือที่ว่าปีนี้จะแล้งยาวนาน จึงไม่เป็นความจริง โดยฤดูฝนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ค.” นายสมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ และฝน เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน โดยชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูแล้ง พร้อมจัดทำข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ แบ่งเป็น การอุปโภค บริโภค ในเขตพื้นที่ให้บริการของการประปา โดยในส่วนการประปานครหลวงมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดปี62 ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เดิมมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่สาขา จำนวน 10 หน่วยบริการ 9 จังหวัด แต่จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงฯ จำนวน 20 หน่วยบริการ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครราชสีมา หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี) ภาคใต้ (สุราษฏร์ธานี พังงา ภูเก็ต ซึ่งทาง กปภ. ได้มีมาตรการรับมือไว้แล้ว เช่น การขนน้ำจากการเชื่อมต่อสถานีบริการใกล้เคียง
ส่วนนอกเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ. ได้แก่ ประปาชุมชน/เทศบาล ต้องเฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ รวม 7 จังหวัด 15 อำเภอ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา และภาคกลาง 2 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี จึงต้องหาแหล่งน้ำต้นทุนในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร (ก.ม.) ซึ่งทาง สทนช. ได้จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร แล้ว เพื่อจัดส่งข้อมูลให้กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และจังหวัดได้รับทราบ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ โดยอาจจะมีการขุดน้ำ การต่อท่อลำเลียงน้ำ เป็นต้น
ขณะที่ภาคการเกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทาน จำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ซึ่งจากติดตามสถานการณ์ พบว่า เกษตรกรได้เข้าร่วมมาตรการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น จำนวน 61,942 ไร่ ซึ่งสถานการณ์น้ำมีเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตามมาตรการ
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ล่าสุด พบว่า การเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ทั้งประเทศ รวมพื้นที่ 10.46 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 มากกว่าพื้นที่แผน จำนวน 34จังหวัด รวมพื้นที่ 1.21 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.09 ล้านไร่ และนอกเขต 0.12 ล้านไร่ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 รวมพื้นที่ 7.18 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 5.30 ล้านไร่ และนอกเขต 1.88 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 รวมพื้นที่ 7.37 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 5.85 ล้านไร่ และนอกเขต 1.52 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 มากกว่าแผน รวมพื้นที่ 0.55 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกเกิน 1.21 ล้านไร่ดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ ได้วางมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า และคาดว่าจะสามารถจัดสรรน้ำให้ผลผลิตไม่ได้รับผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม สทนช.จะประสานขอความร่วมมือไปยังจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ใช้กลไกกำกับ ควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตรให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และเร่งทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำต่อเกษตรกรในพื้นที่ด้วย.