วอนสื่อหยุดข่าว'ฆ่าตัวตาย' หวั่นคนเปราะบางเลียนแบบ
การเมือง
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเปิดเผยว่า จากการศึกษาทั่วโลกมีข้อมูลตรงกันว่าการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่มีความสลับซับซ้อน ไม่อาจะบอกได้ว่ามาจากสาเหตุเดียว หากมีความเครียด นั่นแปลว่าต้องมีความเครียดสะสมหลายอย่าง หากเป็นโรคซึมเศร้าก็ต้องมีสาเหตุอื่นๆ ที่สะสมมาก่อน ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นแล้วพบว่าความสูญเสียไม่ได้จบอยู่แค่นั้น แต่จะทำให้คนรอบข้างของผู้เสียชีวิต ญาติ เกิดความรู้สึกผิดว่าตัวเองมีส่วนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นหรือไม่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้มีส่วนเลย แต่ก็จะโทษตัวเองอยู่อย่างนั้น บางคนอาจจะก้าวข้ามความรู้สึกสูญเสียและความรู้สึกผิดไปได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่บางคนไม่สามารถก้าวข้ามได้ ต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยาต่อไป
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายนั้นแม้จะไม่ได้มีข้อห้าม แต่เป็นจรรยาบรรณของสื่อทั่วโลก ว่าจะต้องไม่พาดหัวข่าวว่าการฆ่าตัวตายนั้นมาจากสาเหตุอะไร ไม่เสนอภาพเสนอชื่อ นามสกุล และแหล่งข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ชิด เพราะบรรดาคนใกล้ชิดเขามีความสูญเสีย เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวให้รู้สึกผิดด้วย นอกจากนี้ การเสนอข้อมูลรายละเอียดเช่นนี้ ยังเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นกลุ่มเปราะบางที่กำลังมีปัญหาแบบเดียวกับผู้ฆ่าตัวตาย ก็จะไปกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้คิดว่านี่คือทางออกของปัญหา จนเกิดการเลียนแบบการฆ่าตัวตายขึ้น สื่อมวลชนควรเสนอเมื่อเกิดเหตุ คือหาทางออกของปัญหา แหล่งข้อมูลที่ผู้ที่มีปัญหาสามารถปรึกษา ขอความช่วยเหลือได้ อย่างสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือช่องทางอื่น ๆ วันนี้สื่อไทยเองถือว่ามีความตระหนักเรื่องนี้บ้าง แต่ด้วยความที่มีสื่อเกิดขึ้นเยอะ หลากหลายขึ้นจึงยังไม่การเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม
ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อนับย้อนหลัง 3-4 ปีมานี้ ไม่พบว่ามีการฆ่าตัวตายสูงขึ้นกว่าเดิม โดยตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย หรือบวกลบไม่เกิน100 รายต่อปี ทั้งนี้ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายจะมีความอ่อนไหวกับเรื่องครอบครัวเป็นหลัก วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ คนในครอบครัวต้องมีการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมที่จะรับฟัง เพราะการฟัง ถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ปลดปล่อย สำหรับสัญญาณเตือน คนที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย คือมักโพสต์ข้อความหรือพูดในทำนองว่า หมดหนทางแล้ว เหนื่อยมาก ไม่มีทางออกแล้ว ไม่มีใคร ไม่อยากอยู่ในโลกนี้ แยกตัวออกจากสังคมไปอยู่คนเดียว ดังนั้นหากพบสัญญาณต้องรีบเข้าไปพูดคุย หรือรับฟัง ห้ามปล่อยให้อยู่คนเดียว อย่าคิดว่าจะไปขยี้แผลผู้ป่วย ต้องเข้าไปพูดคุยให้เขาได้ระบาย สำหรับคนที่มีภาวะหดหู่ อยากฆ่าตัวตาย ต้องหาใครซักคนอยู่ด้วย อย่าอยู่คนเดียวเด็ดขาด หรือหากไม่มีใครให้โทรปรึกษาสายด่วน 1323.