กรมสุขภาพจิตรุดดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน
การเมือง
จากข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้มีการแยกแยะสาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัย 10-24 ปี ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36 ปัญหาด้านการใช้สุราและ ยาเสพติด ทั้งพบว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 และพบว่ามีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 โดยขาดวิธีการแก้ปัญหาและความช่วยเหลือ ส่วนสัญญาณเตือนจะแตกต่างกัน ได้แก่ การเขียนระบายในรูปแบบข้อความ การโพสต์ลงเฟสบุ๊ค การส่งไลน์ สติกเกอร์ บอกลา บางรายเอาของที่ระลึกไปคืนเพื่อนสนิท มากอดลาพ่อแม่ บางรายพบการทำร้ายตนเองด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือไม่ถึงแก่ชีวิตมาก่อน ซึ่งในกลุ่มนี้ ร้อยละ 12 พบว่า จะมีการทำร้ายตนเองสำเร็จในเวลาต่อมา
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับแนวทางป้องกันการแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่งที่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สถานศึกษาทุกระดับชั้น ทุกสังกัด ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของนักเรียน นักศึกษา โดยตรงตั้งแต่เด็กจนโต ทางกรมฯ ยินดีรับ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมฯ มีการดำเนินโครงการสุขภาพจิตในสถานศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งในเร็วๆนี้ก็จะให้มีการสัมมนาหารือร่วมกับผู้รับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทบทวน และเพิ่มศักยภาพในการคัดกรองความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย พัฒนาผู้ให้ความดูแลช่วยเหลือ และภาวะที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ให้มาก และเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ คงต้องขอให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดได้สังเกตสัญญาณเตือนซึ่งกันและกัน โดยให้ระลึกไว้ เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ บางครั้ง คนใกล้ชิด ไม่กล้าถามหรือพูดตรงๆ เพราะกลัวว่าจะพูดไม่ถูกหรือกลายเป็นการกระตุ้นให้คิดหรือทำ
โดยขอแนะนำ หลักการ 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟังอย่างใส่ใจนั้น เป็นวิธีการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก เพราะเป็นการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ไปยังผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย ให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว หรือรู้สึกว่าไม่ถูกทิ้งให้อยู่เบื้องหลัง หรือสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอดเวลา และไม่เสียค่าบริการ อีกแนวทางหนึ่งที่อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูล รูปภาพ เกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานที่ วิธีการ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง เพราะการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถลอกเลียนแบบและเกิดการแพร่ระบาดได้ ยิ่งการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ไม่สามารถจำกัดผู้รับข้อมูลข่าวสารได้ เด็กหรือผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจ ถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่การลอกเลียนแบบพฤติกรรม ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
รวมทั้งสื่อมีบทบาทสำคัญที่จะเป็นตัวกลางตอกย้ำคุณค่าและความสำคัญของวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอมุมมองของการเคารพตัวเองและรับผิดชอบในชีวิต ทั้งในส่วนของการเลือกนำเสนอข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวัยรุ่นในด้านดีๆ ให้รู้สึกว่า วัยรุ่นเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมยอมรับ มีตัวตน เป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ได้มากและเป็นที่ต้องการ สำหรับการเสนอข่าวฆ่าตัวตายนั้น ถ้าพิจารณาแล้วก็ยังเห็นด้วย ที่สื่อควรจะต้องนำเสนอให้สังคมได้รู้ ได้ระวัง และได้ป้องกัน เหมือนเป็นการเสนอข่าวเพื่อเป็นบทเรียนและช่วยเพิ่มพื้นที่ในการหาวิธีป้องกัน โดยเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่อยากยุติปัญหาชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.