'มาร์ค'ลั่นไม่หนุน'ประยุทธ์'นั่งนายกฯต่อ
การเมือง
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ พบว่าประชาชนให้การตอบรับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างดี และให้ความสนใจนโยบายของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งฟื้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชนต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์เน้นย้ำทั้งนโยบายและจุดยืนทางการเมือง เพราะนโยบายเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ แต่จุดยืนทางการเมืองก็สำคัญ เพราะถ้ามีนโยบายดี แต่บ้านเมืองวนกลับมาสู่จุดเดิม ก็ไม่มีประโยชน์ พรรคประชาธิปัตย์จึงกำหนดแนวทางและจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะพาประเทศพ้นออกจากปัญหาที่ผ่านมา สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ไม่ได้อะไรที่น่าห่วง เพราะทุกอย่างเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แม้มีหลายเรื่องที่คนกังวล แต่ได้คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงการเตรียมลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสอดคล้องกับการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ว่า คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ถ้าอยู่ในกรอบของกฎหมาย เราก็ไม่มีปัญหา
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ ได้เปลี่ยนภาพปกในเฟซบุ๊ก "Abhisit Vejjajiva" จากเดิมที่เป็นภาพผู้สมัครของพรรค ทั้ง 500 คนร่วมกันชูมือ พร้อมคำขวัญในการหาเสียง "ประชาธิปัตย์ ประชาชนเป็นเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต" มาเป็นภาพข้อความที่ว่า "เลือกประชาธิปัตย์ ตัดวงจรุบาทว์ เผด็จการ คนโกง" อีกทั้งเผยแพร่คลิปวีดีโอในเฟซบุ๊กประกาศจุดยืนทางการเมืองต่อข้อสงสัยที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า "ชัดๆเลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ และ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่้ำแย่ เศรษฐกิจเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ"
นอกจากนี้ได้เขียนบทความลงในคอลัมน์ "วันอาทิตย์ชวนคิดกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ "Medium.com" เรื่อง "ระบอบประชาธิปไตยและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นเชิงระบบ" โดยระบุตอนหนึ่งว่า หลักการสำคัญที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น คือผู้นำการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีสร้างความมั่นใจได้ว่าจะเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาการทุจริต ที่สำคัญคือต้องตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์แล้วว่าคนที่เข้ามามีอำนาจจากการปฏิวัติรัฐประหาร แม้เป็นคนดีหรือเริ่มต้นดูเหมือนจะเป็นคนดี แต่สุดท้ายไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และร้ายสุดคนเหล่านั้นอาจเสื่อมเสียเอง ทำให้ปัญหาการทุจริตอาจไม่ได้ลดลง และแม้ระบอบประชาธิปไตยจะมีหลักประกันที่ดีกว่าระบอบเผด็จการในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งกับเสียงข้างมาก เพราะเมื่อเข้าบริหารประเทศ มีลักษณะอำนาจนิยม จนกระทั่งระบบถ่วงดุล และระบบกฎหมายถูกทำลาย ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นย้อนกลับมาอีก นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจต้องสร้างมาตรฐานความรับผิดชอบทางการเมือง ให้สูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้สนับสนุนว่าการรัฐประหารเป็นวิธีแก้ปัญหานี้ แต่เราเตือนพรรคการเมืองว่านักการเมืองต้องรู้จักวิธีรักษาประชาธิปไตยด้วยการไม่เอาอำนาจนั้นไปใช้ในทางที่ผิดด้วย