ข่าวกกต.เชื่อลต.ล่วงหน้าไร้ปัญหา แนะโหลดแอพฯเช็กสิทธิ - kachon.com

กกต.เชื่อลต.ล่วงหน้าไร้ปัญหา แนะโหลดแอพฯเช็กสิทธิ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล  รองเลขาธิการ กกต.  กล่าวชี้แจงถึงปัญหาการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากปัญหาคนไปรอใช้สิทธิจำนวนมากที่มาเลเซีย ว่า   ยืนยันว่าจำนวนคูหามีเพียงพอ แต่เนื่องจากทางสถานทูตได้มีการจัดให้มีหน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่  ทำให้คูหากระจายไปตามหน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่ต่างๆ จึงทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งแก้ปัญหาโดยนำกล่องกระดาษมาทำเป็นคูหาเพื่อรองรับกับจำนวนผู้มาขอใช้สิทธิ   ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย และก็ต้องชื่นชมว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทำได้ค่อนข้างดี แม้จะมีภาพที่ปรากฏออกมา ทำให้ไม่สบายใจ แต่ก็ยังสามารถคงหลังการเรื่องของการเลือกตั้งโดยตรง และลับไว้ได้  ซึ่งประโยชน์ตรงนี้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ได้รับ เพราะสามารถมาใช้สิทธิ และเราสามารถรักษาสิทธิการเลือกตั้งโดยตรงและลับของเขาไว้ได้   

นายณัฏฐ์  กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีปัญหาที่พบในประเทศจีนที่มีกระแสข่าวว่าบัตรหายนั้น เป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากในขั้นตอนของการลงทะเบียนออนไลน์  ทางเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ขอลงทะเบียนกรอกในรายละเอียด ระบุถึงที่สถานที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และสถานที่ที่สามารถติดต่อได้ เพื่อทีจะได้จัดส่งบัตรเลือกตั้ง เอกสารเกี่ยวกับผู้สมัคร ไปให้กับผู้ที่ลงทะเบียนตามที่อยู่ที่ได้กรอกไว้  แต่ในบางรายพบว่ากรอกไม่ชัดเจน ไปรษณีย์ส่งบัตรไปแล้วก็ถูกตีกลับมา  ซึ่งทางสถานกงสุลก็พยายามที่จะหาที่อยู่ของผู้ที่ลงทะเบียน  โดยมีการประสานกลับมายังกรมการกงสุลในประเทศไทย  เพราะจะมีการเก็บที่อยู่ของผู้ที่ลงทะเบียนดังกล่าวเอาไว้  ซึ่งก็ได้มีการจัดส่งไปให้สถานกงสุลที่ประเทศจีน แลสามารถส่งบัตรให้กับผู้ที่ลงทะเบียนได้เรียบร้อย  ทั้งนี้รูปแบบการใช้สิทธิของคนไทยในต่างประเทศ ในแต่ละประเทศก็จะเป็นหน้าที่ เป็นอำนาจสิทธิขาดของเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ของประเทศนั้นๆ จะเป็นผู้กำหนด รวมถึงห้วงเวลาในการลงคะแนน วิธีการในการลงคะแนน  การจัดสถานที่เลือกตั้ง  จัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ หรือแม้การจัดลงคะแนนทางไปรษณีย์ก็ตาม ดังนั้นความคล่องตัวจึงขึ้นอยู่แต่ละประเทศเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตามการตื่นตัวครั้งนี้สะท้อนว่าประชาชนมีความต้องการที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม    

เมื่อถามถึง ระยะเวลาในการลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่เหลือจะมีปัญหาในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกหรือไม่   นายณัฏฐ์ กล่าวว่า  เท่าที่ได้รับการประสานในขณะนี้ พบว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางรายโทรศัพท์มาที่ประเทศไทย เช่นซิดนีย์ ออสเตรเลีย  แจ้งว่าได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิแล้ว แต่ทำไมไม่มีชื่อ ซึ่งผู้ลงทะเบียนได้บันทึกภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่รับรองการลงทะเบียนส่งมาเป็นหลักฐานยืนยัน ก็ได้ให้ทางกงสุลทำการเพิ่มชื่อ  และใช้สิทธิเลือกตั้งเรียบร้อย   

ส่วนการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในประเทศ ที่จะมีการเปิดให้ลงคะแนนในวันที่ 17 มี.ค.นี้  โดยทาง เลขาธิการ กกต. ได้มีการประชุมกับรองเลขาฯ กกต.  และจะได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจการเตรียมความพร้อมในจังหวัดที่มีผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมาก  โดยจะเริ่มออกไปตรวจตั้งแต่วันพฤหัสบดี   ซึ่งในส่วนของกรุงเทพ ที่เขตบางกะปิ ที่มียอดผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 61,401 คน  ซึ่งทางเลขาธิการ กกต.ก็จะเดินทางไปตรวจความพร้อมด้วยตนเอง และจากการดูแผนการเตรียมการค่อนข้างดี  โดยจัดสถานที่ใช้สิทธิสองจุด คือโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ และโรงเรียนบ้านบางกะปิ  ทั้งสองแห่งจะแบ่งจังหวัดเพื่อกระจายไม่ให้การใช้สิทธิกระจุกอยู่ที่เดียว  รวมถึงได้จัดเครื่องคอมพิวเตอร์รองรับ 50 เครื่อง   ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ เพื่อความสะดวดรวดเร็ว เมื่อจะไปใช้สิทธิสามารถที่จะตรวจสอบลำดับที่ในบัญชีการใช้สิทธิ สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต (Smart vote) เพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนเดินทางไปใช้สิทธิได้ รวมทั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ตัวเองมีสิทธิได้ด้วย  

นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า เมื่อไปถึงยังหน่วยออกเสียงล่วงหน้า และแจ้งลำดับที่การใช้สิทธิต่อกรรมการประจำหน่วยแล้วก็จะได้รับบัตรและซอง เมื่อใช้สิทธิแล้วก็ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึกและหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง  ซึ่งเมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการคัดแยก ก่อนส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเพื่อรอนับในวันที่  24 มี.ค. ทั้งนี่เชื่อว่าในการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 17 มี.ค. จะไม่เกิดปัญหาความแออัดเหมือนในอดีต ที่แต่ละจังหวัดจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงแห่งเดียว แต่ในครั้งนี้มีการกำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ากระจายไปถึง 380 กว่าแห่ง  จึงคิดว่าการกระจายคนไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งเหล่านี้จะไม่เกิดปัญหา  

เมื่อถามถึง กรณีที่ นายพริษฐ์ วัชระสินธุ  ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ชี้แจงอละรับผิดชอบเรื่องเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครที่แจกให้กับคนไทย ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มีภาพกับชื่อพรรคอยู่คนละแผ่น นายณัฏฐ์  กล่าวว่า การรับรู้ข้อมูลของผู้สมัคร ไม่ได้รับรู้เพียงจากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายช่องทาง เช่น  แอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวตที่แนะนำให้ดาวดาวน์โหลด ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในต่างประเทศ สำหรับเมืองไทยเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครได้จัดส่งไปแล้ว  ไม่มีปัญหาดังกล่าว

“ผมเชื่อว่า คนที่จะเลือกผู้สมัครรายนี้ ก็คงไม่ใช่ที่นั่นที่เดียว ทั่วโลกที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กระจายตัวกันอยู่  เฉพาะในประเทศไทยไม่มีปัญหาในเรื่องนั้น  การที่จะสร้างประเด็นข่าว  เพื่อให้อยู่ในเนื้อที่ข่าว  ก็เป็นเรื่องหนึ่ง  แต่ก็คิดว่าการใช้พื้นที่ข่าวเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ที่ควรต้องพึงระวัง”  นายณัฎฐ์ กล่าว.