ข่าวหมอเอี่ยวยาลดความอ้วนอีก5ราย ส่อผิดอาญา-จริยธรรมวิชาชีพ - kachon.com

หมอเอี่ยวยาลดความอ้วนอีก5ราย ส่อผิดอาญา-จริยธรรมวิชาชีพ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ร่วมแถลงข่าวภายหลังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในการตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบนำยาลดความอ้วนที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2  คือ เฟนเตอร์มีน (Phentermine)  และประเภท 4  คือ ไดอะซีแพม(Diazepam)  ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 อีกทั้ง ซึ่งพบบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบยากลุ่มดังกล่าว จากคลินิกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากลุ่มเหล่านี้ได้ ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ผิดตามระบบที่ อย.ซึ่งติดตามมาตั้งแต่ปี 2561 พบว่ามีการซื้อยาในกลุ่มนี้ แบบผิดสังเกต ทางโดยมีแพทย์มาทำเรื่องขออนุญาตซื้อยาทั้ง 2 กลุ่ม นี้จำนวนมาก และทำเป็นกระบวนการ เป็นเครือข่าย จนในที่สุดจึงได้ร่วมกับทางตำรวจในการบุกจับที่ผ่านมา ซึ่งพบการกระทำความผิดทั้งสิ้น 33 พื้นที่ ทั้งคลินิก บ้าน สถานที่ประกอบการ ของนายทุน โดยพบว่าเป็นคลินิกที่เกี่ยวข้อง 9 แห่ง เป็นแพทย์ 7 ราย โดยมี 2 รายที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกหมายสมคบ หมายถึงน่าจะเป็นตัวการสำคัญ และเข้าข่ายที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะยึดทรัพย์ ส่วนแพทย์อีก 5 รายก็จะถูกหมายเรียกเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน ทั้งนี้หากได้ข้อมูลทั้งหมดจะส่งแพทยสภาดำเนินการด้านจริยธรรมต่อไป รวมถึงส่งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพดำเนินการกับสถานพยาบาลต่อ เบื้องต้นได้ระงับการจำหน่ายยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้งหมดกับคลินิกทั้ง 9 แห่งแล้ว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับคลินิกทั้ง 9 แห่ง เป็นคลินิกเวชกรรม ซึ่งน่าจะเน้นเรื่องความสวยความงามด้วย ในจังหวัดหนองบัวลำภู 1 แห่ง อุบลราชธานี 1 แห่ง  อุดรธานี 1 แห่ง นครราชสีมา 2 แห่ง พิษณุโลก 2 แห่ง และตาก 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม โดยพบว่าแพทย์ทั้ง 2 รายเป็นทั้งผู้ได้รับอนุญาตเปิดคลินิก และเป็นผู้ดำเนินการด้วย โดย 2 รายนี้น่าจะเป็นตัวการ ทั้งนี้ ต้องย้ำบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตในการใช้ยากลุ่มนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะโทษหนักมาก อย่างกรณีลักลอบใช้ยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2  อย่าง เฟนเตอร์มีน มีโทษจำคุก 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท- 2 ล้านบาท ส่วนหากลักลอบใช้ยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4  อย่าง ไดอะซีแพม มีโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท – 1 ล้านบาท ที่สำคัญหากพบว่าเป็นตัวการในการทำผิดอีกก็อาจถูกยึดทรัพย์ด้วย ยิ่งเป็นแพทย์ก็จะถูกเรื่องจริยธรรมอีก
 
เลขาธิการอย.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางอย.ได้มีการอนุญาตการใช้ยาไปทั้งสิ้น 526 แห่ง แบ่งเป็นรพ.รัฐ 4 แห่ง รพ.เอกชน 38 แห่ง และคลินิกอีก  484 แห่ง ขณะนี้กำลังหารือว่าจะพัฒนาระบบและให้มีการติดตามผู้ใช้ยามากขึ้น โดย 1.ให้แพทย์ที่ได้รับอนุญาตการใช้ยากลุ่มเหล่านี้จะต้องติดตามผู้ป่วยที่รับยาไป โดยขอเลข 13 หลัก เนื่องจากในอดีตเคยพบว่ามีการใช้ชื่อผู้ที่เสียชีวิต 2.ผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะต้องให้คำแนะนำการใช้ยาว่า มีผลข้างเคียงอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยได้พิจารณาว่าจะใช้หรือไม่ และ3.จะมีการวางระบบออนไลน์ ในการกรอกข้อมูลแทนการกรอกในเอกสารกระดาษ เพราะอาจแก้ไขได้ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างปรับระบบและจะทำให้เข้มงวดมากขึ้น

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานขอข้อมูลคลินิกที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นอาจเข้าข่ายมีการดำเนินการผิดประเภท โดยผู้ดำเนินการไม่ทำการควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ปล่อยให้มีการดำเนินการผิด เช่น เปิดเพื่อรักษาคนไข้แต่ปล่อยให้มีการขายยาอันตรายผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ตรวจร่างกาย หรือปล่อยให้มีผู้นำยาจากคลินิกออกมาขายก็จะมีความผิดด้วย โดยการจะสรุปความผิดได้ต้องลงไปตรวจสอบในสถานที่ด้วย ซึ่ง สบส.จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด

ขณะที่ นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้มีกฎหมายบ้านเมือง หากทำผิดกฎหมายอาญาของบ้านเมืองก็จะถือว่าผิดจริยธรรมวิชาชีพด้วย นอกจากนี้ก็ต้องดูที่กฎหมายสถานพยาบาลของสบส. เพราะที่จริงการซื้อยานี้จำนวนมากต้องทำผ่านสถานพยาบาล ส่วนแพทย์จะซื้อได้ก็เพียงแต่ 10-20 เม็ดเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องดูว่ามีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน ถึงจะสามารถบอกได้ว่าจะมีการลงโทษผู้กระทบผิดอย่างไร ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอรายชื่อ และข้อมูลประกอบจากทางอย.จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรม อย่างไรก็ตามเนื่องจากเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในข่าว ดังนั้นจะมีการนำเข้าที่ประชุมกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เพื่อหารือกันเบื้องต้นก่อน

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ยาลดน้ำหนัก หรือยาลดความอ้วนนั้น จะเป็นกลุ่มอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ทำให้มีผลข้างเคียงสำคัญปวดหัว คลื่นไส้ มีผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ความดันโลหิตสูงได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องใช้ในทางการแพทย์ที่คิดว่าเหมาะสม คือมีโรคอ้วน  และให้การรักษาควบคุมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว และต้องใช้ในเวลาเหมาะสม ใช้มากสุดไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 12 สัปดาห์ อย่างสมัยก่อนมีไซบูทรามีน แต่ผลข้างเคียงสูง จึงถอนออกไปจากประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันมีกลุ่มเฟนเตอร์มีน ซึ่งตามกฎหมาย อย.จะเป็นผู้จำหน่ายเพียงผู้เดียว โดยจะนำเข้าเข้ามา และจำหน่ายเป็นไปตามกฎหมาย  การให้อย.จัดจำหน่าย เพื่อจะได้ควบคุมได้ และจะมีการติดตามทะเบียนการจำหน่าย การให้ผู้ป่วย โดยอย.จะกำหนดเพดานไม่เกินเดือนละ 5,000 เม็ดต่อคลินิกแต่ละแห่ง.