อึ้ง!เกษตรกรดักสูบน้ำกว่า1ล้านไร่ จี้มท.-กษ.คุมเข้มห้ามปลูกเพิ่ม
การเมือง
ด้านภาคการเกษตร สำหรับพื้นที่ในเขตชลประทาน แม้จะมีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกตามศักยภาพของน้ำต้นทุนไว้แล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มี 31 จังหวัด ที่มีการปลูกพืชมากกว่าแผนที่กำหนด รวมมากกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ที่เกิดปัญหาการสูบน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกเมื่อมีการปล่อยระบายน้ำจากเขื่อน ในส่วนนอกเขตชลประทานมีการคาดการณ์ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลว่า 11 จังหวัด อาจเกิดปัญหาการปลูกพืชมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ โดยในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกพืชมากกว่าแผนราว 1 แสนไร่ โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการกวดขันการจัดการน้ำในพื้นที่ของชลประทานมากขึ้น พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งได้มีการประกาศไม่สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง และให้มีการปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่รับน้ำจาก 4 เขื่อน ได้แก่ ทับเสลา กระเสียว ลำนางรอง และลำพระเพลิง
“ในพื้นที่ที่ได้มีการเพาะปลูกเกินแผนไปแล้วนั้น อาจมีการแบ่งสรรน้ำจากส่วนที่สำรองไว้ในช่วงก่อนถึงเดือนพฤษภาคมมาใช้เพื่อช่วยเหลือ ทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการช่วยกันประหยัดน้ำ และต้องอาศัยบุคลากรจากกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานในการใช้ระบบที่มีอยู่ในการควบคุมและจัดระเบียบการใช้น้ำให้มากขึ้น และต้องร่วมมือไม่ปลูกเพิ่มอีก พร้อมวางแผนปรับปรุงให้มีการกำหนดจำนวนพื้นที่เพาะปลูกและประกาศอย่างชัดเจนให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาระยะยาวในอนาคต” นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำของแม่น้ำในทุกภาคของประเทศ พบว่า มีปริมาณน้ำน้อยถึงปกติ โดยแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 293 ลบ.ม./วินาที อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อัตราการไหลผ่าน 70 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ไม่มีอัตราน้ำไหลผ่าน อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อัตราการไหลผ่าน 3.40 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 0.84 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 96 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย จ.นครพนม ถึง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 9.03 ม. ลดลง 0.02, 9.18 ม. ลดลง 0.11 และ 11.19 ม. ลดลง 0.12 ตามลำดับ
ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35แห่ง มีปริมาณน้ำ 46,606 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,063 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ส่วนอ่างฯ ขนาดกลาง 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,856 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ปริมาณน้ำใช้การ 2,431 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ทั้งนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14แห่ง ที่มีปริมาณน้ำ 30-50% ของปริมาณน้ำใช้การ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ
สำหรับอ่างขนาดใหญ่7 แห่ง มีน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ แบ่งเป็น เขื่อนขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง เขื่อนแม่มอก 26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง เขื่อนอุบลรัตน์ 84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 5% เขื่อนสิรินธร 113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% เขื่อนลำนางรอง 34 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% เขื่อนห้วยหลวง 35 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27% ภาคกลาง 2 แห่ง เขื่อนทับเสลา 23 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 16% และเขื่อนกระเสียว 26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% ส่วนอ่างขนาดกลาง 95 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง.