ข่าวกต.แจงบัตรลต.ถูกตีกลับเพราะปัญหาระบบไปรษณีย์ท้องถิ่น - kachon.com

กต.แจงบัตรลต.ถูกตีกลับเพราะปัญหาระบบไปรษณีย์ท้องถิ่น
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ  นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  ว่า  การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-16 มี.ค.2562 มีสถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการทั่วโลก 94 แห่งใน 67 ประเทศ ซึ่งได้กำหนดวิธีการลงคะแนนเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.การจัดคูหา 70 แห่ง 2.ทางไปรษณีย์ 50 แห่ง 3.วิธีอื่นๆ (โมบาย ยูนิต) 24 แห่ง โดยตอนนี้มีสถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ไทย 29 แห่ง รายงานอย่างเป็นทางการว่าจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเสร็จสิ้นแล้ว  ขณะที่มีสถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งผ่านทางถุงเมล์ทางการทูตพิเศษกลับมายังประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศแล้ว 14 แห่ง  สำหรับสถิติคนไทยในต่างประเทศที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงสุด 5 อันดับแรกตามข้อมูลในขณะนี้ ได้แก่ 1.ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 4,151 ราย  2.สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีจำนวน 1,291 คน  3.ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน มี 761 คน  4.ที่สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มี 752 คน ทั้งนี้ถือว่าคนไทยในต่างประเทศมีความตื่นตัวในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนสูง



อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวอีกว่า  แม้ยังมีสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยอีกหลายแห่งที่ยังดการเลือกตั้งฯไม่เสร็จสิ้น แต่โดยภาพรวมถือว่าการจัดการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  แต่มีบางแห่งที่มีความขลุกขลักบ้าง แต่ข้าราชการประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยพยายามเร่งแก้ปัญหา ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดและระยะเวลาที่สั้น รวมถึงการจำเป็นต้องพึ่งพาระบบไปรษณีย์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศ  ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯจะประมวลปัญหาต่างๆแล้วจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งส.ส.แล้ว



ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดส่งซองเอกสารบัตรเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ในบางประเทศ ถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก อาทิ ที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน  นายนายชาตรี กล่าวว่า  การจัดส่งทางไปรษณีย์ขึ้นอยู่กับระบบท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน เราพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการจ่าหน้าซองที่อยู่ไม่ชัดเจน คนไทยที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ฯ กรอกที่อยู่ไม่สมบูรณ์ หรือให้ที่อยู่ที่เป็นบ้านของคนอื่นหรือเป็นสถานที่ทำงาน แต่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เร่งแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยหลายวิธี เช่น การพยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ฯเพื่อขอที่อยู่ที่ชัดเจน เป็นต้น โดยตอนนี้ยังมีเวลาเพียงพอ แม้ยังมีบัตรเลือกตั้งที่จะถูกส่งทางไปรษณีย์มายังสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย หลังวันที่ 16 มี.ค.แล้ว แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะเราได้เตรียมขั้นตอนการนำบัตรเลือกตั้งส่วนนี้ส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศในไทย

เมื่อถามถึงกรณีที่พบว่ามีคนไทยที่ถ่ายรูปบัตรลงคะแนนเลือกตั้งแล้วเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย  นายนายชาตรี กล่าวว่า  เบื้องต้น เรายังพบว่ามีเพียงแห่งเดียว คือกรณีของคนไทยรายหนึ่งที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ กกต.รับทราบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว.