ข่าว'อนค.'เขี่ยรถไฟความเร็วสูง ปักหมุดสร้าง'ไฮเปอร์ลูป' - kachon.com

'อนค.'เขี่ยรถไฟความเร็วสูง ปักหมุดสร้าง'ไฮเปอร์ลูป'
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ แถลงเรื่องไฮเปอร์ลูป:ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยนายธนาธร กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับบริษัทจากประเทศแคนาดาตั้งแต่ ต.ค. ปี 2561 รวม 5 เดือนกว่า ในเส้นทางเชียงใหม่ กทม. ภูเก็ต ซึ่งหากประเทศไทยสามารถฉวยโอกาสในการศึกษาวิจัย และพัฒนาไฮเปอร์ลูปเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ ไปด้วย สำหรับกรอบระยะเวลาความเป็นไปได้ในการศึกษาพัฒนาไฮเปอร์ลูปนั้น เริ่มต้นได้ทันทีในปี 2019 โดยช่วงปี 2020-2021 เป็นช่วงการวิจัยพัฒนา และทดลองระบบรุ่นแรกได้ในระยะทาง 10 กม. ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าเป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในโลกแล้ว จากนั้นปี 2022-2023 เริ่มทดลองต้นแบบรุ่นที่ 2 และ3 พร้อมตรวจสอบใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเริ่มโครงการของจริง และเริ่มใช้งานได้จริงในปี 2030

นายธนาธร กล่าวว่า จากผลการศึกษามีการประเมินรายได้ทางเศรษฐศาสตร์ของไฮเปอร์ลูปทางทางตรง ทางอ้อมและอื่นๆ รวม 971,490 ล้านบาท ประมาณการผลประโยชน์ต่อจีดีพีทางตรง ทางอ้อม และอื่นๆ รวม 713,685 ล้านบาท และจ้างงานได้ทั้งสิ้น รวม 183,780 ตำแหน่ง นอกจากจากนี้ไม่นับผลประโยชน์ที่จะได้จากการติดแผงโซลาร์เซลบนแนวท่อไฮเปอร์ลูปตลอดเส้นทาง ที่สามารถนำพลังมาหล่อเลี้ยงระบบ และที่เหลือสามารถนำออกขายได้ด้วย โดยใช้ จ.พิษณุโลก เป้นฐานของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ตรงสี่แยกอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมในระดับภูมิภาคได้ ทั้งนี้รายงานยังพบว่าเราสามารถมองข้ามรถไฟความเร็วสูงไปที่ไฮเปอร์ลูปได้เลย เพราะต้นทุนถูกกว่าหากสามารถวิจัยและพัฒนาได้เอง โดยไม่ต้องไปซื้อเทคโนโลยีที่ต่างประเทศพัฒนาไปไกลแล้วในราคาแพงหลักแสนล้านได้ ซึ่งในระยะสั้นสำหรับประเทศไทยที่ต้องทำทันทีคือ 1.ระบบรางคู่ 2.รถเมล์ไฟฟ้า เพื่อป้อนคนให้ระบบราง โดยอุตสาหกรรมรถไฟเราสามารถตั้งไว้ในภาคอีสานได้ จะเป็นการสร้างงานที่มีคุณภาพได้กว่า 4 แสนอัตรา แรงงานจะไม่ได้ต้องอพยพเข้าสู่ กทม.และเมืองใหญ่เหมือนอย่างที่เป็นอยู่

เมื่อถามว่าไฮเปอร์ลูปถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่น นายธนาธร กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ไฮเปอร์ลูปตัวเดียว เรามองที่รถเมล์ไฟฟ้าก่อนในระยะแรก 4 ปี สามารถทำได้ทันที ต่อด้วยระบบรางที่ตัวรถและตัวรางสามารถผลิตในประเทศได้เลย แต่ระบบอื่นๆ ก็คงต้องซื้อตัวต้นแบบมาใช้ไปก่อน สำหรับไฮเปอร์ลูปงบในการวิจัยและพัฒนาอยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท อยู่ในวิสัยน์ที่รัฐไทยจะทำได้ ส่วนจะทำอย่างไรให้คนเห็นด้วยนั้น ก็ขอฝากประชาชนให้เลือกพรรคเราเยอะๆ จะได้มีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองอื่น

ด้านนายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปเทียบเท่ากับการให้บริการอากาศยาน นอกจากใช้คนสองคนแล้วยังสามารถใช้ขนส่งสินค้าได้ทำให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งทางอากาศที่มีความรวดเร็วสูง โดยมีความเร็วสูงสุดที่ 1,000-1,200 กม./ชม. โดยมีค่าก่อสร้างถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง เพราะโครงสร้างน้ำหนักเบากว่า และมีการควบคุมเรื่องเสียงและมลพิษได้ดีกว่า หากสามารถวิจัยและพัฒนาได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมาก

ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่ได้มีการเปิดคลิปแบบจำลองระบบไฮเปอร์ลูป พร้อมกราฟฟิกประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและผลประโยชน์ที่จะได้รับหากดำเนินการสำเร็จ โดยจะมีการเผยแพร่รายงานฉบับเต็มในวันที่ 1 เม.ย.เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปเป็นประเด็นข้อเรียนในการยุบพรรคของฝ่ายตรงข้าม โดยการแถลงข่าวครั้งนี้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจเข้าร่วมซักถามจำนวนมาก โดยถามถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ รวมถึงการพัฒนาระบบรางร่วมกับจีนที่ คสช.ได้ทำข้อตกลงไว้แล้ว โดยนายธนาธร ยืนยันว่า ไฮเปอร์ลูปมีความเป็นไปได้และค่าก่อสร้างถูกกว่ารถไฟความเร็วสูงที่ไจก้าได้ประเมินไว้ ส่วนในแง่ความร่วมมือกับจีนนั้นมองว่าต้องมีการสร้างสมดุลใหม่.