ข่าว'กรมชล-กรมฝนหลวง'ระดมปฏิบัติการป้องกัน-บรรเทาภัยแล้ง - kachon.com

'กรมชล-กรมฝนหลวง'ระดมปฏิบัติการป้องกัน-บรรเทาภัยแล้ง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่15 มี.ค.นายสุรีสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวว่า ได้วางแผนปฏิบัติการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง โดยในปีนี้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำ “แผนที่ความต้องการน้ำ” ซึ่งจะทราบว่า ปริมาณน้ำผิวดินทุกพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรเพาะปลูกพืชชนิดใดบ้าง ต้องการน้ำมากน้อยเพียงใดในแต่ละห้วงเวลา จึงไม่จำเป็นต้องรอการร้องขอจากประชาชน เกษตรกร หรือหน่วยงานอื่น แล้วจึงขึ้นบินปฏิบัติการ แต่สามารถบินปฏิบัติการได้ทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย

ขณะนี้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภาครวม 9 แห่ง โดยภาคเหนือที่เชียงใหม่และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานีและบุรีรัมย์ ภาคกลางที่นครสวรรค์และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกที่จันทบุรี ภาคใต้ที่อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์และอำเภอหาดใหญ่ สงขลา นอกจากนี้ยังมีฐานเติมฝนหลวง 4 แห่งที่ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ระยอง และสระแก้ว ซึ่งการตั้งฐานเติมฝนหลวงนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละภาคได้มากขึ้น อีกทั้งยังทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วในระยะนี้เช่น หากบินขึ้นปฏิบัติการเพื่อก่อกวน เลี้ยงให้อ้วนแล้ว เมฆก่อตัวดี สามารถบินลงเติมสารฝนหลวงที่ฐานเติมสารที่ใกล้ที่สุด ขึ้นปฏบัติการโจมตีให้เกิดเป็นฝนได้ทันท่วงที

พื้นที่ที่ติดตามอย่างใกล้ชิดคือ อำเภอสอยดาว จันทบุรีและที่บุรีรัมย์ซึ่งนอกเขตชลประทานเริ่มขาดน้ำอุปโภค-บริโภค ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาได้ช่วงชิงจังหวะเวลาขึ้นบินปฏิบัติการให้ทันสภาพอากาศ แต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่ขณะนี้บริเวณความกดอากาศสูงจากจีนเริ่มแผ่ลงมา แล้วจะปะทะกับอากาศในไทย ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เมฆจะก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติมีมากขึ้น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงขึ้น ตลอดจนดัชนีค่ายกตัวของอากาศเหมาะสม เอื้ออำนวยให้การปฏิบัติการฝนหลวงสัมฤทธิ์ผล ป้องกันและบรรเทาภัยแล้งได้

ทางด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้ในเขตชลประทานยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูก สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังนั้น ภาคเหนือ ปลูกเกินแผน 210,000 ไร่ ภาคตะวันออกเกินแผน 40,000 ไร่ และลุ่มเจ้าพระยาเกินแผน 550,000 ไร่ รวม 3 พื้นที่ 800,000 ไร่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางฝั่งตะวันตก และภาคใต้ปลูกต่ำกว่าแผนรวม 570,000 ไร่ ดังนั้นจึงที่เกินแผนทั้งประเทศ 230,000 ไร่

นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินแผน แต่ในเขตชลประทานไม่มีพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดน้ำ สามารถบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด แต่สำหรับพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด หากทำจะไม่จัดสรรน้ำให้เนื่องจากต้องสงวนน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค

“กรมชลประทานยืนยันว่า ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งพอเพียงต่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรรม และอุตสาหกรรม แต่สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบว่า จะยังไม่จัดสรรน้ำให้ทำการเกษตร จนกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฤดูฝนจะมาล่าเล็กน้อย จากปกติประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม แต่ปี 62 นี้คาดว่า จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยเมื่อกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จะส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มเพาะปลูกก่อน ตามแผนบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งที่ทุ่งบางระกำและ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ส่วนในที่ดอนขอให้ชะลอการเพาะปลูกไปจนกว่า ฝนจะตกสม่ำเสมอ” นายทองเปลวกล่าว

นอกจากนี้ยังจะนำเครื่องจักร-เครื่องมือทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถบรรทุก และรถบรรทุกน้ำไปประจำที่ศูนย์รวบรวมที่กำหนดไว้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ทั้งนี้กรมชลประทานได้สำรองน้ำไว้เผื่อจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม กรณีฝนมาล่าหรือฝนทิ้งช่วงยังคงมีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคแน่นอน แต่ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานขอความร่วมมือ.