ข่าวชำแหละ'นโยบายพปชร.'ส่อซ้ำรอยยุค'เพื่อไทย' - kachon.com

ชำแหละ'นโยบายพปชร.'ส่อซ้ำรอยยุค'เพื่อไทย'
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดตัวนโยบายด้านแรงงาน  ว่า  ปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึง คือผู้มีส่วนได้เสียต่อนโยบายนี้ ได้แก่แรงงานทุกคน เจ้าของกิจการ และประชาชนผู้เสียภาษี โดยช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายในการหาเสียง หลายพรรคออกมาเกทับบลัฟแหลกกันจนประชาชนปวดหัว แต่นี่เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำ เพราะเราทำชุดนโยบาย“แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” เสร็จพร้อมนานแล้ว  สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. และเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ พูดไว้เมื่อปี 2561 ว่าควรจะปรับขึ้นเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน มิฉะนนั้นจะเกิดการล่มสลายและปัญหาที่หนักกว่าเดิม จึงน่าแปลกใจที่พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้พรรคนี้เสนอนโยบายที่ขัดกับสิ่งที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ทำมาตลอด ขณะที่ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ที่เหนื่อยที่สุดคือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี

นายกรณ์ ระบุอีกว่า  ส่วนการเพิ่มค่าแรงสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นเดือนละ 20,000 บาทนั้น เป็นแนวเดียวกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับระบบการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาของไทย ทั้งที่วันนี้เรามีเด็กเรียนสายสามัญเพื่อได้ปริญญาตรี 70 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่เรียนสายวิชาชีพเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่พรรคประชาธิปัตย์มีเป้าจะปรับสัดส่วนเป็น 50:50 จึงเสนอให้มีการเรียนฟรี ปวส. เพื่อดึงดูดให้เด็กเลือกเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น  ส่วนนโยบบายของพรรคพลังประชารัฐที่จะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10 เปอร์เซ็นต์นั้น ตนกังวลว่าจะทำให้ฐานภาษียิ่งหดลง โดยจะมีผู้เสียภาษีเงินได้เหลือเพียง 1 ล้านคน และจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 170,000 ล้านบาท แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายนี้ คือผู้ที่มีรายได้สูงสุดในประเทศ