ข่าว'นายจ้าง'ชี้เพิ่มค่าจ้างแค่เกทับหาเสียงทำไม่ได้จริง - kachon.com

'นายจ้าง'ชี้เพิ่มค่าจ้างแค่เกทับหาเสียงทำไม่ได้จริง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภค บริโภค และหนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 400-425 บาท เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะสภาพเศรษฐกิจยังไม่เอื้อให้ค่าจ้างสูงถึงขนาดนั้น หากมองย้อนไปในปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตอนนั้นทำได้จริงเพราะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับ มีการแทรกแซงบอร์ด์ ค่าจ้าง ทั้งที่บอร์ดต้องเป็นอิสระ จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ทำให้นายจ้างผู้ประกอบการย่ำแย่ไปนาน ส่วนครั้งนี้ต่างกันเพราะไม่ใช่รัฐบาลพรรคเดียวแน่นอน เป็นเพียงการหาเสียง พูดเกทับกันเท่านั้น เพราะตามหลักวิชาการ ทำจริงไม่ได้ ยกเว้นเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วใช้อำนาจเแทรกแซงเหมือนในอดีต แต่ก็ยังไม่รู้ว่าพรรคที่มีนโยบายปรับค่าจ้างสูงขนาดนี้หากเข้ามาเป็นรัฐบาลจะใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงบอร์ดค่าจ้างอีกหรือไม่ เพราะในเมื่อพูดอะไรไว้ ก็ต้องทำให้ได้

นายอรรถยุทธ กล่าวต่อว่า ค่าจ่างที่สูงเกินจริงจะทำให้ผู้ประกอบการแย่ไปหมด จะล้มหายตายจากมากขึ้น ปัจจุบันนี้นายจ้างก็ลำบากอยู่แล้ว เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนการผลิต ถ้าต้นทุนมากก็ไม่ไหว ค่าจ้างสูงสุดขณะนี้อยู่ที่ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง 330 บาท ส่วนกรุงเทพฯ ปริมณฑล 325 บาท ถ้าจะปรับเป็น 425 บาท จะเป็นการปรับขึ้นถึง 95-100 บาท จะอยู่ได้อย่างไร ส่วนจะทำให้มีการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนมากขึ้นหรือไม่นั้น อาจจะทำได้ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมาก แต่สถานประกอบการในประเทศ 4 แสนแห่ง ร้อยละ 90 เป็นเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการขนาดเล็ก จึงไม่มีปัญญาใช้เอไอมาทำงาน

นายอรรถยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนที่บอร์ดค่าจ้าง ยังไม่มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2562 ในการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุไม่ได้มาจาก 46 จังหวัด ไม่เสนอให้ปรับค่าจ่างตามที่เป็นข่าว อนุกรรมการค่าจ้างทุกจังหวัดได้ทำการบ้านตามหน้าที่ของตัวเอง เป็นไปตามกลไก ไม่มีอะไรแทรกแซงบอร์ดค่าจ้างในระบบไตรภาคี เพียงแต่ข้อมูลแต่ละจังหวัดยังไม่เพียงพอ จึงให้กลับไปทำเสนอมาใหม่ให้ครบทุกด้าน แล้วเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดในเดือน เม.ย. ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเคาะค่าจ้างได้หรือไม่.