ข่าว'กรมชล'ยันเชียงรายไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค - kachon.com

'กรมชล'ยันเชียงรายไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทานตลอดจนประชาชน ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการเรื่อง ไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้เยี่ยมชมบูธจัดแสดงผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในส่วนของจังหวัดเชียงราย จากส่วนราชการต่างๆ ที่นำมาเสนอในงาน

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จ.เชียงราย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 117 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 โดยแบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บห้วยช้าง อ่างเก็บน้ำแม่ต๊าก อ่างเก็บน้ำแม่สรวย และอ่างเก็บน้ำดอยงู ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 115 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 48 แห่ง ทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 38 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 72 สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 67 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71

สำหรับแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ทำการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคประมาณ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 เพื่อภาคการเกษตรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานประมาณ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65 สนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งพื้นที่ในเขตชลประทานประมาณ 187,897 ไร่ พื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 289,053 ไร่ และใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ ประมาณ 148 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านแผนป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ปัจจุบันพื้นที่จ.เชียงรายมีแหล่งน้ำต้นทุนรวมกันที่ประมาณ 497 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้กรมชลประทานได้เตรียมมาตรการแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิเช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(swoc) ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว