ข่าวฝนหลวงฯระดม9หน่วยเร่งแก้แล้ง-พายุลูกเห็บ-ลดฝุ่นพิษ - kachon.com

ฝนหลวงฯระดม9หน่วยเร่งแก้แล้ง-พายุลูกเห็บ-ลดฝุ่นพิษ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 มี.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี จันทบุรี และหน่วยฯ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ลุ่มรับน้ำบริเวณอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว และอ่างเก็บน้ำกระเสียว ด้านหน่วยฯ พิษณุโลก ได้ขึ้นปฏิบัติการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บด้วยภารกิจเมฆเย็นด้วยเครื่องบิน Super King Air สามารถช่วยยับยั้งพายุลูกเห็บบริเวณและทำให้มีฝนตกเล็กน้อยในบางพื้นที่ของจังหวัดตากและกำแพงเพชร โดยไม่พบการรายงานว่ามีลูกเห็บตกบริเวณพื้นที่เป้าหมาย



สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 38% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 28% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดจันทบุรี จึงขอติดตามสถานการณ์หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินช่วยเหลือพื้นที่อำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี รวมถึงพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดระยอง ตราด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทราซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ในขณะนี้



ด้านพื้นที่ภาคกลาง คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และจากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 63% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 51% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.6 หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยฯ กาญจนบุรี จึงขอติดตามสถานการณ์หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ กาญจนบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา และอ่างเก็บน้ำกระเสียว



พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดมีแนวโน้มดีขึ้นโดยคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังเกินเกณฑ์ค่อนข้างมากจึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จังหวัดแพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 58% (ร้องกวาง) 46% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 58% (ร้องกวาง) 32% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.4 (ร้องกวาง) 2.7 (อมก๋อย) ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยฯ จังหวัดพิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ที่รับผลกระทบ และบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดเชียงราย สุโขทัย ตาก การเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำป่าเลาและป่าแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ การคลี่คลายปัญหาไฟไหม้ป่าบริเวณอำเภอสามเงา จังหวัดตาก รวมถึงภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ที่มีแนวโน้ม



พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณพื้นที่จังหวัดขอนแก่นยังมีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในภาวะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งในวันนี้ (20 มี.ค. 2562) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการประกาศให้พื้นที่อำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเมืองจันทร์ อำเภอขุขันธ์ และอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว สำหรับผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 64% (บ้านผือ) 68% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 76% (บ้านผือ) 32% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.1 (บ้านผือ) -0.6 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดอุดรธานี สภาพอากาศเอื้ออำนวยจึงตัดสินใจปฏิบัติการบริเวณทิศตะวันตกอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย - ทิศตะวันออกอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยมีเป้าหมายบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น



พื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 44% (พนม) 75% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 40% (พนม) 51% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.0 (พนม) -2.7 (ปะทิว) ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม หน่วยปฏิบัติการฯ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดสงขลา จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งบางส่วนของจังหวัดราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สงขลา ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช รวมถึงพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำบางวาด จังหวัดภูเก็ต.