ข่าวสทนช.ชงตั้งศูนย์น้ำจังหวัด อุดช่องโหว่แก้แล้ง-ท่วม - kachon.com

สทนช.ชงตั้งศูนย์น้ำจังหวัด อุดช่องโหว่แก้แล้ง-ท่วม
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณา วางแผน ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำ เช่น ช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง เพื่อให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากทุกวันนี้ข้อมูลน้ำในแหล่งน้ำบางแห่งอยู่ในสภาพไม่มีผู้รับผิดชอบที่แท้จริง โดยเฉพาะเขื่อนขนาดกลางกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 แห่งไม่มีปัญหา ทุกแห่งมีเจ้าภาพดูแลหมด แต่เขื่อนขนาดกลางความจุตั้งแต่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปจนเกือบแตะระดับ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีกว่า 400 แห่งยังมีปัญหาตรงที่ไม่มีเจ้าภาพดูแลทั่วถึง  บางจังหวัดดูแลถึง 5-6 เขื่อน พอเกิดมีวิกฤติน้ำขึ้นมาจะวิ่งเทียวไปเทียวมาก็ไม่ทันการณ์แล้ว  จึงต้องหาหน่วยงานรับผิดชอบใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มเติม ส่วนเขื่อนขนาดเล็ก มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่การติดตามปริมาณน้ำยังคงใช้วิธีการประเมินปริมาณน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมของ Gisda เพื่อ ติดตามสถานการณฺน้ำ ซึ่ง สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติในการสำรวจ ติดตามปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะให้แต่ละหน่วยงานใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์สมัยใหม่ติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทดลอง
         
ทั้งนี้แนวทางของ สทนช. ในเบื้องต้น คือ ให้หน่วยงานมอบหมายให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นผู้รับผิดชอบแจ้งข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับปริมาณน้ำไปยังศูนย์น้ำจังหวัด ต่อไปยังศูนย์น้ำภาค และ สทนช. ตามลำดับ ซึ่งวิธีนี้จะคล่องตัวกว่า ข้อมูลเร็วกว่า และสามารถติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ตลอดเวลา โดยที่กลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะส่งข้อมูลผ่านไปให้หน่วยงานผิดชอบเขื่อนเช่นกัน ไม่ว่ากรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้จะส่งไปที่ สทนช. เหมือนกัน

เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า  ในส่วนของศูนย์น้ำจังหวัดเป็นแผนการจัดตั้งหน่วยงานในระดับจังหวัดดูแลเรื่องน้ำโดยเฉพาะ โดยอาศัยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 หรือกฎหมายอื่นๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้จังหวัดในฐานะเจ้าของพื้นที่มีข้อมูลน้ำที่ครบถ้วน รวดเร็ว และมีส่วนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.