'ทองเปลว'ใส่เกียร์ลุยดันโครงการผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพล
การเมือง
“กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่ากว่าฤดูฝนจะมาสัปดาห์ที่สามของเดือนพ.ค.จากปีที่แล้วฤดูฝนมากลางเดือนพ.ค. ซึ่งปีนี้เจอภาวะเอลณิโญ่อ่อนๆทำให้หน้าแล้งนานขึ้น และฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นจะต้องส่งน้ำจากเขื่อนมาสนับสนุนไปถึงทุกพื้นที่ให้ผ่านหน้าแล้งให้ได้ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน หาแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำชลประทาน ชักน้ำไปให้ถึงชาวบ้าน ถ้าไม่มีแหล่งน้ำใกล้เคียง ใช้รถบรรทุกน้ำของชลประทานไปให้ทุกตำบลที่มีปัญหารุนแรงขาดน้ำอุปโภค บริโภค ตามที่รมว.เกษตรฯสั่งการใช้การบริหารแบบบูรณาการร่วมกับทุกส่วนราชการ จะแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพ ทำให้จากแล้งมาก ไปแล้งน้อย จนไม่มีพื้นที่ประกาศเขตประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้น พร้อมกับเข้มข้นติดตามการส่งน้ำ ไปหายระหว่างทางหรือไม่ มีรอบน้ำจัดส่งน้ำทั่วถึงพื้นที่หรือไม่ เพราะต้องมองไปถึงปีหน้า รวมทั้งจำนวนกำหนดพื้นที่ปลูกใช้น้ำให้ชัดเจนที่ต้องการปริมาณไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทั้งนี้ต้องรวบรวมแหล่งน้ำต้นทุน การใช้น้ำเท่าไหร่ พื้นที่เกษตรใช้น้ำต่อเนื่องในฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรฯเสนอโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรลงทะเบียน 7 แสนไร่ และรณรงค์เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ผ่านกลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัด(อกพ. )ขอความร่วมมือทุกท้องถิ่น ช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ”นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวว่าสภาพอากาศปัจจุบันมีความแปรปรวนมากขึ้นเกิดปัญหาภัยธรรมชาติถี่ขึ้น และรายพื้นที่แตกต่างกัน ทำให้ระบบสถิติย้อนหลังการเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม นำมาเทียงเคียงไม่ได้ เพราะจะเห็นว่าบางปีมีทั้งพื้นที่แล้ง ขณะเดียวกันอีกพื้นที่มีอุทกภัยด้วย จึงได้มาปรับการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด เช่นการกำหนดเส้นปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำใหม่ วางระดับเก็บกักน้ำเฉพาะเจาะจงแต่ละเขื่อน สอดคล้องบริบทปัจจุบัน เนื่องจากต้องรองรับความผันผวนสภาพอากาศมีสูง
ในส่วนเขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ เช่นเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การเหลือ2% จึงต้องกำหนดการใช้เท่าที่จำเป็น โดยปล่อยน้ำระดับต่ำสุด ของการผลิตไฟฟ้าของเขื่อน ซึ่งเมื่อปี59 ใช้น้ำก้นเขื่อน ตั้งแต่วันที่2เม.ย. มาปีนี้ ใช้น้ำก้นเขื่อน วันที่ 20เม.ย.มีแนวโน้มดีขึ้นพยายามยืดเวลาใช้น้ำให้มากที่สุด จะเห็นว่าการบริหารน้ำแบบมีส่วนจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ในขณะที่ปริมาณน้ำไม่แตกต่างกันในสองปี โดยเห็นแนวโน้มปีที่แล้ว จากคาดการณ์กรมอุตุฯว่าฝนมาน้อย มาปรับการจัดสรรน้ำยังสามารถใช้สำหรับประปา และรักษาระบบนิเวศได้ ทั้งเขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสบา ไม่ถึงกับใช้น้ำก้นอ่าง เพราะการร่วมมือบูรณาการได้ผล ปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถใช้ได้ตลอดผ่านหน้าแล้ง
นายทองเปลว กล่าวการรับมือภัยแล้งได้มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นปี ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวม โดย รมว.กฤษฏา ให้ตั้งศูนย์อำนวยการ(วอร์รูม)ภัยแล้ง สั่ง3กรม สามเสือหลัก ไปวิเคราะห์ติดตามพื้นที่ แม้ยู่นอกเขต อย่าให้ขาดน้ำ ถ้ามีแหล่งน้ำใกล้ ไปดูเส้นทางเชื่อม มาเติมแหล่งน้ำให้กับชุมชน พร้อมกับ ไปเปิดทางน้ำไปขุดลอกทางน้ำทุกแห่ง เช่นจ.บุรีรัมย์ ได้ชักน้ำจากลำปลายมาศ มาไว้อ่างจระเข้มาก มีน้ำผลิตประปา ผ่านพ้นแล้งได้ไม่มีปัญหา อ.คีรีวง นครศรีธรรมราช ไปชักน้ำมาสนับสนุนประปา
สำหรับจังหวัดที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขาดแคลนน้ำกินใช้ เช่น เชียงใหม่ ชัยภูมิ นครสวรรค์ เลย กาญจนบุรี ราชบุรี และนครราชสีมา ได้นำน้ำมาเสริมระบบประปา อ.พิมาย อ.เฉลิมพระเกียรติ สูบน้ำจากแม่มูล และแหล่งน้ำของชลประทาน นำน้ำไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ส่วนจ.เชียงใหม่ ใช้ฝายแม่แตง ลำเลียงน้ำมาให้เขตชุมชน และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดน้ำพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ รวมทั้งจ.ภูเก็ต มีอ่างน้ำขนาดกลาง 3แห่ง มีน้ำ3ล้านลบ.ม. แต่ปริมาณใช้น้ำมากกว่า ได้ไปดูขุมเหมืองต่างๆ9แห่ง มีน้ำ10กว่าล้าน ลบ.ม.ชักน้ำมาให้ระบบผลประปา และจ.นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี ใช้น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงรถบรรทุกน้ำไปแจกประชาชน
“หน้าแล้งนี้ในระดับไม่รุนแรงอย่างที่วิตกใช้การบริหารจัดการเป็นตัวหลักผ่านพ้นไปได้ ทั้งนี้ได้ขับเคลื่อนวางแผนอนาคต 6ยุทธศาสตร์ โครงการน้ำขนาดใหญ่เริ่มเกิดปี61-62 ซึ่งต้องยอมรับกันว่าปัญหาจริงๆต้องมีแหล่งน้ำมากขึ้นเพื่อรองรับการใช้น้ำมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ศึกษาโครงการเสร็จแล้ว สำหรับโครงการผันน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพล ปีละ2พันล้านลบ.ม.จากลำน้ำยวม กันน้ำก่อนที่ที่น้ำจะไหลลงสาละวิน อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ ซึ่งจะทำอาคารชลประทานกันน้ำไว้ ตั้งสูบย้อนกลับมาไว้จุดสูงสุดสันเขา แล้วปล่อยน้ำลงมาตามแรงโน้มถ่วง ลงแม่น้ำปิง อ.ดอยเต่าเหนือเขื่อน ภูมิพล ซึ่งปีนี้เริ่มดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่ออกแบบเป็นระบบท่อ และอุโมงค์ใต้เขาคาดว่าใช้เวลา 5-6ปี รวมก่อสร้างจะเสร็จโครงการนี้ ได้สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศได้อย่างมาก จะต้องเห็นเป็นรูปธรรมในยุคนี้”นายทองเปลว กล่าว.