'กฤษฎา'เซ็ทซีโร่กระจายเค้กงบนมโรงเรียน
การเมือง
นายกฤษฏา กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะมีการเปลี่ยนจากการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขาย (MOU) ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย มาเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างกัน ตามพ.ร.บ. เกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 พร้อมเร่งจัดทำระบบฐานข้อมูล (Big Data) จะทำให้รู้ทั้งปริมาณนมแท้จริงเท่าไหร่ และผู้ประกอบการรายไหน ซื้อนมจากเกษตรกร รายใด ต้องเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพของนม เพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเข้ามามากถึงการจัดสรรสิทธิ ตามข้อเสนอแนะจากสำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจาก คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ นอกจากนี้ตามมติครม. ใหม่ได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเข้มงวดขึ้นและในอนาคตจะเพิ่มสารอาหารเช่น เติมไอโอดีน ดีเอชเอ ลูทีน โคลีน เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับแต่ละเขต เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ สารอาหารครบถ้วน
ด้านน.สพ.ณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การแบ่งพื้นที่การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในเทอม 1/2562 ที่จะเปิดวันแรกในวันที่ 16 พ.ค. นั้น ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดสรรแบ่งตามพื้นที่เขตในการดูแล โดยทั้ง 5 กลุ่ม หลักการของก็ให้แต่ละกลุ่มไปพิจารณาพื้นที่ของตนเองมีน้ำนมดิบปริมาณเท่าไร หากไม่เพียงพอก็ให้มองเขตใกล้เคียง หรือ กลุ่มไหนที่มีน้ำนมดิบเกิน ก็ให้ประสานไปที่กลุ่มข้างเคียงเช่นเดียวกัน โดยหลักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นประธานในแต่ละคณะให้ประสานกันได้ ทั้งนี้ยกเว้นเทอม 1/2561 ที่จะเปิดการศึกษาในวันที่ 16 พ.ค. นี้ ไม่ทัน จะใช้ส่วนกลางจัดก่อน แต่ยืนยันว่า เซ็ทซีโร่ทั้งหมด ทั้งปริมาณน้ำนมดิบ นำมารื้อดูใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ใครได้ 100 ตัน/วัน จะได้แบบเดิม ไม่ใช่แล้ว ในระหว่างนี้ ทางกรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เตรียมความพร้อมสำหรับรอบต่อไป ก็คือ เทอม 2/2561
ขณะที่นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ตัวแทนกลุ่ม ACPU ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนทั้งสหกรณ์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมเอกชน และมหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่นี้จะทำให้การแจ้งซื้อขายน้ำนมดิบเท็จนั้นทำได้ยากขึ้น ที่ผ่านมามีขาใหญ่ที่มีโควต้าการจัดสรรสิทธิจำหน่ายมาก เป็นการเอาเปรียบและเบียดบังสิทธิของผู้ประกอบการที่แจ้งตามปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจริง นอกจากนี้การที่แยกคณะกรรมการนมโรงเรียนออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนที่ตัดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนผู้ประกอบการออก รวมถึงองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายนมโรงเรียนด้วยนั้นมั่นใจว่า จะทำให้เกณฑ์การจัดสรรสิทธิมีความเป็นธรรมและโปร่งใสยิ่งขึ้น.