ข่าวสมาคมแพทย์แผนไทยขู่ฟ้องสบส.กราวรูด - kachon.com

สมาคมแพทย์แผนไทยขู่ฟ้องสบส.กราวรูด
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
จากกรณีผู้ประกอบการร้านนวด นำโดยนางชาลิดา ศิริธนาบุญ ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือเยียวยา หมอนวดที่ได้รับผลกระทบจากการที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ไม่รับขึ้นทะเบียน ซึ่งต่อมาทางสบส.ได้ออกมาชี้แจงเหตุผลการไม่รับขึ้นทะเบียนหมอนวดที่มีใบประกาศนียบัตรจากสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยเนื่องจากพบความผิดปกติ มีการเปิดสาขาสอนนวด หรือเฟรนไชน์ และการซื้อขายใบอนุญาตจึงทำหนังสือส่งถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ระงับการขึ้นทะเบียนหมอนวดจากสมาคมดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีหมอนวดอีกกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ให้ดำเนินคดีกับสมาคมแพทย์แผนไทยฯ ในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากถูกหลอกให้สมัครเรียนนวด แต่เมื่อเรียนจบได้ใบประกาศณียบัตรจากสมาคมฯ แล้วแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้  

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสุกษม อามระดิษ อดีตเลขานุการสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการก่อตั้งสมาคมฯ คือห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งตนก็ลาออกไปแล้ว เพื่อเป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ก่อนหน้านี้จึงไม่ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นเพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่วันนี้ สถานการณ์ที่หมอนวดได้รับผลกระทบจำนวนมาก และมีการแจ้งดำเนินคดีกับบิดาของตน ซึ่งคือนายอร่าม อามระดิษ นายกสมาคมฯ อายุกว่า 92 ปี แล้วทำให้ตนตัดสินใจที่จะออกมาชี้แจง ทั้งนี้กรณีที่กรมสบส.มีการระบุว่าสมาคมฯ ออกใบประกาศนียบัตรเกือบ 1 เสนคน นั้นยืนยันว่าไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งถ้ารวมการเรียนการสอนตั้งแต่ที่เปิดสมาคมฯ เมื่อปี 2540 ก็มีหมอนวดที่อยู่ในระบบประมาณ 3-4 หมื่นราย ที่ตกหล่นไปช่วงน้ำท่วมและการย้ายที่ตั้งสมาคม อีกประมาณ 1-2 หมื่นราย รวมทั้งหมดก็ไม่เกิน 6 หมื่นราย ที่ตัวเลขนั้นสบส.เหมารวมเอาหน่วยงานอื่นเข้ามาด้วย เพื่อที่จะทำให้หมอนวดเดือดร้อนและฟ้องร้องกับสมาคมฯ เอง โดยที่สบส.นั่งอยู่บนภู  

นายสุกษม กล่าวต่อว่า เมื่อมีพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพออกมาเมื่อปี 2559 กรมสบส.ได้ทำหลักสูตรการเรียนการสอนกลาง แล้วให้สมาคมไปเปลี่ยนชื่อหลักสูตรให้สอดคล้อง เราก็ไปเปลี่ยน ให้ส่งชื่อสมาชิกก็ทำ แต่ช่วงหนีน้ำท่วมข้อมูลก็ไม่สมบูรณ์จึงประกาศในเฟสบุ๊ก ให้สมาชิกมาแสดงตน จะได้ส่งรายชื่อให้สบส. ต่อมาสบส.ทำหนังสือมาครั้งแรกให้สมาคมฯ ไปชี้แจง แต่เรายังไม่พร้อมจึงขอเลื่อนไป 30 วัน ซึ่งยังไม่ทันครบ 30 วัน สบส.ก็มีหนังสือเวียนถึงสสจ.ทั่วประเทศไม่ให้รับขึ้นทะเบียนหมอนวดที่ถือใบประกาศของสมาคมฯ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าผิดหรือถูก แต่กรมด่วนสรุปและลงโทษแล้ว เป็นการตั้งศาลเตี้ย 

นายสุกษม  กล่าวว่า ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าทางสมาคมฯจะยื่นร้องต่อศาลปกครองตีความ และส่งเรื่องเดียวกันนี้ถึงสบส.ด้วย  ทั้งนี้ตนยังไม่เห็นหนังสือที่สบส.ส่งมาให้ทางสมาคมฯชี้แจงเกี่ยวกับหลักสูตรการสอน จึงยังไม่อยากชี้แจงอะไร แต่จะส่งทนายเข้าชี้แจงที่สภ.นนทบุรีกรณีถูกแจ้งความเรื่องฉ้อโกง ขณะเดียวกันได้ให้ทนายความเตรียมข้อมูลในการฟ้องร้องผู้บริหารกรมสบส.ซึ่งจะครอบคลุมใครบ้างก็ต้องมาดูอีกที แต่ที่จะฟ้องคือผิดมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งระบุว่าก่อนออกกฎหมายรัฐต้องรับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน หากออกมาแล้วต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อถามว่าเหตุผลที่สบส.สั่งระงับขึ้นทะเบียนเพราะพบความผิดปกติ มีหมอนวดที่จบจากสมาคมฯ นับ แสนคน ทั้งที่สามารถสอนได้แค่ 7 คน นายสุกษม กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นสอนเกินกันหมด กระทั่งมีกฎหมายสถานศึกษาเอกชน ปี 2553 ยอมรับว่าเรามีการสอนเกิน 7 คน ถ้าสอนกันที่สมาคมฯ จะสอนไม่เกิน 7 คน แต่ไปสอนนอกพื้นที่ตามที่หน่วยงานรัฐร้องขอให้เราไปช่วย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเข้าไปสอนในคุก ตรงนี้ต้องสอนกันจำนวนมากเพราะไม่ได้เข้า ออกกันง่ายๆ  ทำให้ต้องสอนเกิน 7 คน อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่า สมาคมฯ ไม่เคยปลอมหรือทำการซื้อขายใบประกาศนียบัตร แต่ที่ผ่านมามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นจริง ก่อนปี 2559 ด้วยซ้ำ แต่หลังมีพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ยิ่งพบว่ามีการปลอมมากขึ้น ตอนมีปัญหาใบประกาศปลอมนั้นทางกรมเองก็มาขอให้สมาคมฯ ออกใบรับรองซ้ำ เราก็ทำโดยตรวจสอบกับฐานระบบ และรับรองซ้ำตามปีที่มีการสอนจริง ไม่มีการแก้ไขปีการรับรองย้อนหลังแน่นอน ซึ่งพอตรวจสอบเราจะเจอว่าปลอมมากเป็นพันๆ ใบ ทั้งปลอมปีที่จบ ปลอมชั่วโมงการเรียน ไปจนถึงสลับหน่วยงานที่ออกใบประกาศนียบัตรก็มีจึงได้แจ้งต่อสบส. และแจ้งความไว้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามต่อกรณีมีข้อมูลสมาคมฯ ขยายสาขาหรือเฟรนด์ไชน์ โดยขายชื่อป้ายสมาคมฯ หลักแสนบาท นายสุกษม กล่าวว่า ไม่จริง ไม่มีใครต้องจ่ายแสน สองแสนบาท ที่เอาชื่อสมาคมฯ ไปนั้น มีแต่บริจาค 3 พันบาท 5 พันบาท ฟรีก็มี เหมือนกับว่าใครๆ ก็อยากอวดว่าจบมาจากสมาคมฯ ทั้งนี้ก็มีบางที่ก็อ้างเอาชื่อเราไปจริง บางที่ขออนุญาตเข้ามาเพื่อขอใช้ชื่อสมาคมฯ มีประมาณหลักร้อยกว่าแห่ง แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดไปดำเนินการสอนนวด บางแห่งเอาชื่อไปแล้วก็ไปเปิดร้านนวด ซึ่งถ้าตามกฎหมายปี 2559 กลุ่มเหล่านี้ต้องไปขออนุญาตกับสบส.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สมาคมฯ ซึ้งใจแล้ว คิดว่าถ้ากรมสบส.แก้ปัญหาโดยรับรองประกาศนีบัตรของรัฐทั้งหมดที่ออกก่อนปี 2559 ปัญหาคงไม่เกิด

เมื่อถามถึงกรณีศูนย์ที่เอาชื่อสมาคมฯ ไป เมื่อสอนนวดแล้วไม่สามารถออกไปใบประกาศนียบัตรได้เองต้องส่งรายชื่อลูกศิษย์มาให้ สมาคมฯ ออกใบประกาศให้ พร้อมเงิน 600 บาท นายสุกษม กล่าวว่า การทำเอกสารก็มีค่าใช้จ่าย เหมือนเวลาไปทำบัตรประชาชนก็มีค่าใช้จ่าย เมื่อถามต่อว่าการทำเช่นนี้ขัดกับหลักกฎหมายที่ว่าที่ใดสอน ที่นั่นต้องเป็นผู้ออกใบประกาศหรือไม่ นายสุกษม กล่าวว่า ก่อนหน้าปี 2553 ไม่มีเรื่องนี้ และทุกวันนี้ยังไม่เห็นคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่าสอนที่ไหนที่นั่นต้องเป็นคนออกใบประกาศ ซึ่งถ้ามีจริงยิ่งดี ตนจะได้เอาไปถามศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดกับกฎหมายอะไรหรือไม่ ที่ผ่านมามีแต่พูดปาวๆ ด้วยวาจา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเมื่อไม่มีคำสั่งเป็นทางการสมาคมฯ เลยรับออกใบประกาศให้แทนอย่างนั้นหรือไม่ นายสุกษม กล่าวว่า ก็ต้องคิดเรื่องหลักคุณธรรมด้วย จะให้ทำอย่างไร เช่นไปสอนในคุก ออกมาไม่มีใบประกาศก็ต้องออกให้ แล้วสังคมเราเป็นสังคมกระดาษ ถ้าไม่มีกระดาษก็ทำงานไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าระบบแบบนี้ก็มีอยู่ครูบาอาจารย์ที่เขาไปสอนก็มาขอ เขาจะว่าอย่างไรก็ว่าไปเถอะ จริงๆ พูดตรงๆ แทนที่กรมจะมากล่าวหาสมาคมฯ กรมควรไปหาวิธีการเยียวยาหมอนวดเหล่านี้ก่อนดีหรือไม่ แต่ที่ทำอยู่เปิดสอนวันละ 600 คน เช้า 300 คน เย็น 300 คน ถ้าคนที่ไม่มีมาตรฐานมาอบรมตามนี้แล้วถือว่ามีมาตรฐานเลยหรือไม่ ก่อนหน้านี้สมัยอดีต ผอ.กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตนเคยเสนอให้ทดสอบฝีมือ โดยหมอนวดเอาใบประกาศนียบัตร บัตรประชาชน มายื่นขอสอบ ถ้าคนที่ถือใบประกาศของสมาคมฯ ได้คะแนนต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าองค์กรนั้นๆ มีการอบรมที่ไม่ได้มาตรฐาน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นจนป่านนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี สั่งให้สบส.เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ผ่านมากี่วันทำอะไรบ้าง สิ่งแรกที่ผมคิดว่าทำได้ดี และจะสามารถแก้ปัญหาได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ คือการรับรองประกาศนียบัตรของภาครัฐ เหลือเท่าไหร่ก็มาตัวต่อตัวกับสมาคมฯ เลย” นายสุกษม กล่าว.